นายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL) กล่าวว่า การเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ( mai) เป็นวันแรกของ KUMWEL ที่ราคา 1.24 บาท เพิ่มขึ้น 0.14 บาท เหนือจอง 12.73% จากราคา IPO ที่ 1.10 บาท ถือว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดีและถือว่าสะท้อนพื้นฐานของบริษัทที่มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางรายได้ในปีนี้คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 469 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีกำลังผลิตใหม่เข้ามา ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.2 แสนแท่งต่อปี แต่ภายหลังการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO แล้ว บริษัทจะสามารถขยายกิจการตามแผนธุรกิจ ได้แก่ การขยายโรงงานแห่งใหม่จะทำให้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 2.4 แสนแท่งต่อปีจะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 63 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/64
นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินระดมทุนบางส่วนใช้ปรับปรุงอาคารโรงงานเดิมในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ในปี 63 และจะใช้ในด้านวิจัยและพัฒนาระบบและสินค้ารุ่นใหม่ (R&D) รวมถึงใช้ปรับปรุงและพัฒนาห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ที่โรงงานแห่งเดิม และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
"ผลิตภัณฑ์ของบริษัทต้องใช้ความเข้าใจค่อนข้างมาก และต้องใช้ระยะเวลาที่จะทำให้เห็นว่ามีประโยชน์การเติบโตจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงต้น แต่หากทุกคนเข้าใจแล้วว่าจะช่วยให้เพิ่มความปลดภัย และช่วยให้ประสิทธิภาพของงานต่างๆได้อย่างไรในอนาคตก็จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย ด้วยการขยายตลาด และทีมงาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง"นายบุญศักดิ์ กล่าว
ด้านนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปรแมเนจเม้นท์ จำกัด (APM )ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai ) ของ KUMWEL ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้กิจการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจของบริษัท หลังจากที่ได้รับเงินระดมทุนจาก IPO จำนวน 143 ล้านบาท จะส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (Debt to Equity Ratio: D/E Ratio) ลดลงจาก 0.34 เท่า ณ ไตรมาส 1/62 มาอยู่ที่ระดับ 0.25 เท่า และปัจจุบันบริษัทมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรประมาณ 165 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังการระดมทุนบริษัทพร้อมเดินหน้าขยายกิจการตามแผนธุรกิจ ประกอบด้วย การขยายโรงงานแห่งใหม่พื้นที่ 30 ไร่ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มกำลังการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนของบริษัท พร้อมปรับปรุงอาคารโรงงานเดิม วิจัยและพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มสินค้ารุ่นใหม่ อีกทั้งพัฒนาห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ล่าสุดได้มีแผนเพิ่มพันธมิตรสำหรับงานด้าน Clinic System Solutions ในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในช่วงไตรมาส 3/62
สำหรับแผนการขยายระบบ System Solutions ที่เป็นงานวางระบบป้องกันและเตือนภัยฟ้าผ่า บริษัทเตรียมเข้ารับงานโครงการต้นแบบวางระบบภายในโครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทางรวม 300 กิโลเมตร และงานสนามบิน ทั้งนี้ ในอนาคตมีแผนขยายรับงานเพิ่มเติมในกลุ่มลูกค้า 6 กลุ่มหลัก อาทิ กลุ่มไฟฟ้า คมนาคม สื่อสารโทรคมนาคม อุตสาหกรรม อาคารสิ่งปลูกสร้าง และความมั่นคงทางทหาร
นายบุญศักดิ์ กล่าวต่อว่า บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนวัตกรรมระบบป้องกันฟ้าผ่าแบบอัจฉริยะ ที่ทันสมัย จากบริษัทคนไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยจะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเป็นทางการในงาน TEMCA Forum & Exhibition 2019 ในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นมีแผนเดินสายแนะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น
"งานด้าน System Solutions มีแนวโน้มขยายตัวอีกมากในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน ซึ่งทุกโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์และระบบสัญญาณเตือนภัยฟ้าผ่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสาธารณะในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการขยายธุรกิจต่อเนื่อง" นายบุญศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในประเทศประมาณ 80% และต่างประเทศประมาณ 20% แบ่งเป็นลูกค้า 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคการไฟฟ้า 27.15% ภาคสิ่งปลูกสร้าง 24.14% ภาคอุตสาหกรรม 18.32% ภาคคมนาคม 10.15% ภาคการสื่อสารโทรคมนาคม 0.61% และภาคความมั่นคงทางทหาร 0.24%