รมช.คมนาคม คาด THAI กลับมามีกำไรในปี 65 รอหารือแผนจัดหาเครื่องบินหลังฝ่ายบริหารทบทวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 1, 2019 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย (THAI) และนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ว่า ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดทุน โดยปัจจุบัน การบินไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งมีเป้าหมายสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และกำไรอย่างยั่งยืน ด้วยบริการที่ดีขึ้น ภายใต้โครงการ "มนตรา"และเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีบริการที่ดีเลศด้วยเสน่ห์ความเป็นไทย กลับไปเป็นสายการบินยอดเยี่ยม1 ใน 5 ของโลกเหมือนเดิม

สำหรับแผนการจัดหาเครื่องใหม่นั้นจะให้การบินไทยนำรายละเอียดมาหารืออีกครั้งในเร็วๆนี้ โดยการซื้อเครื่องบินใหม่นั้น เป็นการลงทุนโดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้เน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และเพิ่มรายได้จากธุรกิจเสริม เช่น ครัวการบิน

นายถาวร กล่าวว่า ได้ให้นโยบายกับการบินไทยในการนำสินค้าโอท็อปสินค้าของไทยที่มีความโดดเด่นมีคุณภาพ ร่วมเป็นคู่ค้าการจำหน่ายภายใต้ธุรกิจ e-Commerce บนเครื่องซื้อผ่านออนไลน์ของการบินไทยที่จะเริ่มในเดือน พ.ย.62 ซึ่งหากไม่ทัน ให้เริ่มในส่วนของสินค้าโอทอป ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 63

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาขาดทุน และสร้างรายได้และกำไรของทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ได้เร็วขึ้น ได้ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานข้อขัดข้อง และทำงานร่วมกัน ซึ่งตามแผนฟื้นฟูภายใต้โครงการมนตรา การบินไทยจะมีกำไรในปี 67ซึ่งอาจจะสามารถเห็นกำไรได้ก่อนในปี 65

"การบินไทยมีแผนฟื้นฟู ซึ่งจะต้องเดินไปตามนั้น ส่วนแผนปฏิบัติในโครงการ "มนตรา"นั้น เท่าที่นำเสนอ น่าพอใจและมั่นใจว่า ทั้งการบินไทยและไทยสมายล์จะมีผลสำเร็จ มีกำไรยั่งยืนในปี 2565 ก่อนที่แผนฟื้นฟูกำหนดในปี 2567แน่นอน"นายถาวร กล่าว

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า บริษัทมีเครื่องบินมีจำนวนไม่เพียงพอ มีอายุมาก ประสิทธิภาพสู้คู่แข่งไม่ได้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลง เป็นกับดักในการบริการ ของการบินไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างดำเนินการแผนฟื้นฟูที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบแล้ว

ส่วนการจัดหาเครื่องใหม่ จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท การบินไทยอยู่ระหว่างทบทวน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล เรื่องจึงถูกส่งกลับมา ซึ่งจะเร่งนำแผนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป โดยยังคงแผนจำนวนและวงเงินเดิม แต่อาจจะปรับปรุงในเรื่องเครื่องยนต์สำรองให้สอดคล้องกับความเห็น สศช.

สำหรับการดำเนิน ธุรกิจ e-Commerce บนเครื่องผ่านออนไลน์ เป็นตลาดกลาง หรือ Marketplace ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะเริ่มในเดือนก.ย. 62 ปรับแผนเริ่มในเดือนพ.ย. 62 จะสร้างรายได้สำคัญในอนาคตให้การบินไทย ทั้งนี้ ได้รับนโยบายในการนการนำสินค้าโอทอปเข้ามาร่วม ซึ่งจะเร่งเขียนโครงการ ในเรื่องการคัดเลือกสินค้า รูปแบบการนำเสนอ และการจัดส่ง และข้อจำกัดในการนำเข้าไปแต่ละประเทศ เป็นต้น เพื่อให้จดสินค้าที่เหมาะสมกับสอดคล้องกับความต้องการของชาวต่างชาติ โดยจะสามารถดำเนินการในเฟส 2 หลังเปิดตัวในเดือนพ.ย. ประมาณ 4-5 เดือน

"อยากให้หน้าร้านของการบินไทยเฟสแรก นิ่งเสียก่อน และมีเวลาในการเตรียมความพร้อมของสินค้าโอทอปด้วย เนื่องจากต้องหารือร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย"

นายสุเมธ กล่าวว่า การบินไทยได้ปรับการบริการเรื่อง Ground to Sky แบบไร้รอยต่อ เชื่อว่าผู้โดยสารจะมีความพอใจและกลับมาใช้บริการเพิ่ม นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่อง Digital Transformationโดยจะปรับเปลี่ยนทั้งระบบ และองค์กร โดยจะมุ่งการตลาด ดิจิทัล ที่มีความทันสมัย การนำเสนอสินค้ามีรูปแบบให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงปรับระบบการขายเอเย่นต์และดิจิทัลให้แข่งขัน

ส่วนการเพิ่มบริการ ‘Preferred Seat’ เปิดขายที่นั่ง Economy แถวหน้าสุดของแต่ละโซน วันแรก 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มีรายได้จากการเปลี่ยนที่นั่งส่วนนี้ 1-2 แสนบาท ถือว่าจะเป็นบริการที่สร้างรายได้ในระยะยาว และเป็นบริการมาตรฐานเช่นเดียวกับสายการบินอื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ