ก.ล.ต.อนุญาต Social Enterprise ที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมฯขายหุ้นต่อประชาชนได้ ,เพิ่มกำกับดูแลการออกตราสารหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 2, 2019 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 8/2562 ว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบอนุญาตให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสำนักงาน เช่นเดียวกับบริษัทประชารัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กิจการดังกล่าวสามารถระดมทุน เพื่อใช้ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์แก่สังคม

โดยนำผลกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปใช้เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แก้ไขพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอื่น หรือคืนประโยชน์แก่สังคม ส่วนอีกไม่เกิน 30% จะแบ่งเป็นกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามก.ล.ต.จะเสนอแนวทางการอนุญาตดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อพิจารณาต่อไป

ปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 33 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัท 29 บริษัท

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า คณะกรรมการก.ล.ต.มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ โดยเตรียมออกเกณฑ์การกำกับดูแลตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP-วงแคบ) หรือการเสนอขายต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล หลังจากพบว่ามีจุดอ่อนในระบบ (ecosystem) เช่น ผู้ออกหุ้นกู้ มีบางส่วนมีความเสี่ยงด้านฐานะ ซึ่งมักเสนอขายผ่านช่องทางที่ไม่มีการยื่นแบบเสนอขาย (ไฟลิ่ง) ผู้ลงทุนจึงขาดข้อมูล, ตัวกลางการขายและข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เล่นหลักในการขายตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนรายบุคคล งบการเงินมีความล่าช้า และข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าใจยาก ขณะที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเข้าใจว่าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ฯ แบบใหม่จะไม่อนุญาตให้มีการเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าวแก่นักลงทุนทั่วไป (รายย่อย), นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth และนักลงทุนนิติบุคคล แต่ยังสามารถเสนอขายตราสารหนี้ให้แก่นักลงทุนสถาบัน (II) และกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทที่ออกตราสารหนี้, เพิ่มการติดตามผู้ออกและกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง, ยกระดับคุณภาพตัวกลาง/professional รวมถึงเพิ่มคุณภาพข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเพิ่มกลไกจัดการเมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (default)

หลังจากนี้ ก.ล.ต.จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 ส.ค.62 และคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Hearing) ได้ภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบก็จะดำเนินการบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) จำนวน 6 ราย ได้แก่ นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, นายจรัมพร โชติกเสถียร, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นางวรวรรณ ธาราภูมิ, นายเสรี นนทสูติ และนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เพื่อให้องค์คณะของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็นไปตามองค์ประกอบที่แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่วันที่ 5 ส.ค.62 เป็นต้นไป

ส่วนคณะกรรมตลาดหลักทรัพย์ ที่ตลาดหลักทรัพย์เลือกตั้ง มีจำนวน 4 คน ได้แก่ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ, นายไพบูลย์ นลินทรางกูร, นายนรเชษฐ์ แสงรุจิ และนายธิติ ตันติกุลานันท์

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ตามองค์ประกอบใหม่ชุดแรก พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 6) (มาตรา 39) ระบุให้กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้งในส่วนที่คณะกรรมการก.ล.ต. แต่งตั้งและที่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์เลือกตั้ง พ้นจากตำแหน่งฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่ครบ 1 ปี 6 เดือน โดยใช้วิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นตำแหน่งตามวาระ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ