นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยในงานสัมมนา TISCO Monthly Guru Updates ว่า ในเชิงเทคนิค บล.ทิสโก้คาดว่าหุ้นไทยเดือนสิงหาคม 2562 จะมีแนวรับที่ 1,640 - 1,660 จุด และมีแนวต้านที่ 1,710 - 1,730 จุด แม้ว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับใกล้กับแนวรับแล้ว แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น เพราะกังวลเรื่องสหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% ในวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากสหรัฐฯ ประกาศใช้จริงจะส่งผลลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลก ประกอบกับนักลงทุนคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยจะออกมาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยลบเรื่องการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI Emerging Market ที่เตรียมเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน A-Share จาก 5% เป็น 15% ทำให้ต้องปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยลง ซึ่งประเด็นการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI นั้นคาดว่าจะทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทยประมาณ 9,000 ล้านบาท
สำหรับประเด็นหนุนหุ้นไทยในเดือนสิงหาคม บล.ทิสโก้ประเมินว่าเงินทุนต่างชาติจะยังคงไหลเข้า หลังจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดี้ส์ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือประเทศไทยเป็นบวก อนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของไทยลดลงต่อเนื่องต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 จึงคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท หลังจากช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 600,000 ล้านบาท อีกทั้งในเดือนกันยายนจะมีปัจจัยหนุนจากการประชุมธนาคารกลางสำคัญต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าแต่ละแห่งจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หรืออาจจะใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในเดือนสิงหาคม แนะนำให้เลือกลงทุนหุ้นรายตัว เน้นที่หุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ปรับขึ้นน้อยกว่าตลาด และหุ้นที่คาดว่าจะมีผลประกอบการดี จ่ายปันผลสูง โดยมีหุ้นเด่นในเดือนสิงหาคมคือ BCP, CK, HANA, PLANB, PYLON, ROJNA และ TPIPP
นายวิวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ควรจับตามองจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีคือ เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ถึงแม้ว่าขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักลงทุนทั่วโลกคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ และ 2 ครั้งในปีหน้า แต่การลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่ได้การันตีว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นเสมอไป เพราะในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา Fed ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปทั้งสิ้น 9 ครั้ง มีเพียง 4 ครั้งที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อ และอีก 5 ครั้ง เศรษฐกิจกลับชะลอตัวลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด
"ตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาพูดถึงเศรษฐกิจถดถอยคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน ของสหรัฐฯ มากว่า 2 เดือนแล้ว แสดงให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองว่าเศรษฐกิจระยะยาวจะมีปัญหา ทั้งนี้ หากปีหน้าเกิดเศรษฐกิจถดถอยจริง ตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มโตลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ซึ่งในกรณีเลวร้าย คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับลดใช้เวลา 2 - 3 ปี ไปอยู่ที่ 1,400 - 1,200 จุด หรือลดลงประมาณ 500 จุด จากดัชนีปิดปี 2562 ที่ 1,750 จุด หากเป็นเช่นนั้นแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำ ซึ่งมองว่าปีนี้ราคาทองคำจะปิดปีที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ พร้อมเปิดสถานะ Long Put Options และ Short Futures" นายวิวัฒน์กล่าว