กทม.คาดเจรจา BTS ได้ข้อยุติค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 65 บาทแลกขยายเวลาสัมปทานภายใน ส.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 6, 2019 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาระหว่างบบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS)กับคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามม.44 นั้นคาดว่าจะสามารถเจรจาได้ข้อยุตภายในเดือน ส.ค.นี้ และจากนั้นจะนำเสนอร่างสัญญาให้กับอัยการสูงสุดพิจารณาก่อนที่จะลงนามสัญญาร่วมกันในเดือน ก.ย.นี้

ในการเจรจาดังกล่าว จะกำหนดให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย จากสถานีเคหะ- สถานีคูคตที่มีระยะทาง 67 กม. ราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว จากปัจจุบันที่เก็บค่าโดยสารในช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ราคาสูงสุด 44 บาท และส่วนต่อขยายอีก 15 บาทรวม 59 บาท

"คาดว่าจะเจรจาจบในเดือนส.ค.นี้ ...เราให้เขาเก็บเพิ่มอีก 6 บาท ดังนั้นราคา 65 บาท ผมยืนยันว่าไม่แพง"

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีเป็นประธานเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว โดยช่วงนี้จะไม่มีการเก็บค่าโดยสาร

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTS และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า บริษัทสามารถยอมรับในหลักการที่จะเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทสำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปกติค่าโดยสารสามารถปรับขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อในทุก 18 เดือน ทั้งนี้ การเจรจาใกล้ได้ข้อยุติแล้ว หลังจากนั้นจึงจะขอมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น BTS ก่อนจะลงนามสัญญากับกทม.

ทั้งนี้ สัญญาที่จะตกลงร่วมกันอยูในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และส่วนเรื่องหนี้ของกทม.ที่รับโอนทรัพย์สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) ที่มีหนี้กับกระทรวงการคลังประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาทนั้น โดยเบื้องต้นบริษัทจะจ่ายเป็นส่วนแบ่งรายได้ให้กับกทม.ในการนำไปชำระหนี้คืน ขณะที่ บีทีเอสจะได้รับสิทธิขยายเวลาสัมปทานแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยเพราะอยู่ระหว่างเจรจากันอยู่

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่า ในงวดปี 62/63 คาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 4-6% หรือจำนวนผู้โดยสารใกล้ 1 ล้านคน/วัน โดยในปีนี้จะเปิดให้บริการสายสีเขียวเหนือช่วงสถานีหมอชิต-สถานม.เกษตรศาตร์ หรือเพิ่มขึ้น 5 สถานี และในปี 63 จะเดินรถได้ทั้งเส้นสถานีหมอชิต-สถานีคูคต

ปัจจุบัน สัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพระหว่าง กทม. กับ BTSC มี 2 เส้นทาง คือสายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กม. ประกอบด้วย 17 สถานี ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กม. ช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน ซึ่งมีสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในปี 72 และ BTSC รับจ้างเดินรถให้กทม.ในส่วนต่อขยายสายสีลม ระยะทาง 7.5 กม. โครงการแรกช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีวงเวียนใหญ่ และโครงการที่สอง สถานีวงเวียนใหญ่-สถานีบางหว้า และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ระยะทาง 5.25 กม. จากสถานีบางจาก-สถานีแบริ่ง

และล่าสุดมีส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ระยะทาง 12.6 กม.จากสถานีแบริ่ง-เคหะ (สมุทรปราการ) ทั้งหมด 9 สถานี และ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ระยะทาง 18.2 กม. จากสถานีหมอชิต-สถานีคูคต มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี ทำให้มีการทบทวนสัญญาสัปมทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่ทั้งหมดที่มีสัญญาสัปทานหลัก และส่วนต่อขยายที่กทม.จ้าง BTSC เดินรถโดยเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาท/เที่ยว หากมีการเก็บอัตราค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นสูง ทางกทม.จึงได้ปรับแก้เรื่องค่าโดยสารเพื่อให้ให้เป็นภาระของประชาชนมากเกินไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือใช้ ม.44 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยักค่าโดยสาร รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และ ช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ