ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนด
อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้การบริหารงานของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือทรู ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+/Stable" จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนสถานะในการแข่งขันที่ดีของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง และแรงกดดันจากการแข่งขันในธุรกิจซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการสร้างรายได้จากการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่ และโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมของบริษัทชะลอตัว
ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีผู้ใช้บริการจำนวน 29.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32% ของส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งอุตสาหกรรม เทียบกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ที่มีสัดส่วน 45% และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่มีสัดส่วน 23% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของบริษัทซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) ยังคงเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 รายได้จากการให้บริการทรูโมบาย (TRUE Mobile) ซึ่งไม่รวมค่า IC อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เติบโตที่ระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1% ในขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วน 29% เมื่อเทียบกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ที่มีสัดส่วน 48% และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นที่มีสัดส่วน 23%
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้รวม 2.6 หมื่นล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 5.8 พันล้านบาท และมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 3.6 พันล้านบาท ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 9.6 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 5.3% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 68.6% ณ เดือนมีนาคม 2562 จากระดับ 65.7% ในปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 15) ที่ทำให้บริษัทต้องตัดจ่ายต้นทุนการได้มาของผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นล้านบาทออกจากกำไรสะสม
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะการแข่งขันและระดับผลการดำเนินงานที่ดีและสามารถสร้างรายได้จากเงินที่ลงทุนไปโดยไม่ทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง อีกทั้งจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไป นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดขึ้นกับอันดับเครดิตของทรูก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในขณะที่ความเสี่ยงที่บริษัทจะได้รับจากการลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้เป็นอย่างมาก
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาแต่ในอดีต เช่น ประเด็นเรื่องส่วนแบ่งรายได้ หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต น่าจะยังต้องใช้เวลากว่าที่จะมีผลสิ้นสุด โดยที่อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท