(เพิ่มเติม) ซีอีโอ NOK ลั่น"จุฬางกูร"ปักหลักลุยธุรกิจไม่คิดขายทิ้ง เร่งทำแผนปฏิบัติฟื้นกิจการ ตัดรายจ่าย-เพิ่มรายได้,ย้ำไม่เพิ่มทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 7, 2019 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ระบุว่ากลุ่ม"จุฬางกูร"ในฐานะถือหุ้นใหญ๋ใน NOK จะเดินหน้าทำธุรกิจสายการบินเพื่อคนไทยต่อไป โดยไม่มีแผนจะขายทิ้ง แต่ยังเปิดโอกาสให้พันธมิตรเข้ามาร่วมหากเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจต่อกัน ลั่นสรุปแผนปฏิบัติการพลิกฟื้นธุรกิจภายใน 1 เดือนจากนี้หลังลุยเจาะลึกปัญหาหลักทำพังมาจากรายจ่ายสูงเกินจริง ขณะที่รายได้หด เบื้องต้นงานเร่งด่วนตัดรายจ่ายไม่จำเป็นทุกช่องทาง เตรียมแผนเพิ่มเครื่องบิน-เพิ่มจุดบินดันรายได้ค่าตั๋วโดยสารสูงชึ้น พร้อมขยายช่องทางเพิ่มรายได้นอกเหนือจากค่าตั๋ว วางเป้าหมายสัดส่วนเพิ่มเป็น 30-40% จากปัจจุบันมีแค่ราว 10-12%

ขณะที่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นในการเพิ่มทุน หลังจากได้เงินกู้ 3 พันล้านบาทเข้ามารองรับการขยายธุรกิจแล้ว ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม แต่ยอมรับว่าผลประกอบการในปีนี้คงยังขาดทุน แม้ว่าภาพรวมจำนวนผู้โดยสาร และอัตราบัรรทุกผู้โดยสารทรงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากแผนแก้ปัญหาเดินหน้าอย่างเต็มที่ในปีหน้าจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการกลับมาเป็นบวกได้ในที่สุด

"คุณพ่อ (นายสรรเสริญ จุฬางกูร) ต้องการให้นกแอร์เป็นสายการบินที่ให้บริการคนไทย เพราะหลังจากเข้ามาถือหุ้นแล้วเดินทางไปจังหวัดหนึ่งที่นกแอร์ยกเลิกเส้นทางบินไป ทำให้สายการบินที่ยังบินอยู่ปรับราคาค่าตั๋วขึ้นมาแพงมาก"นายวุฒิภูมิ กล่าว และยอมรับว่าเคยมีดีลการเจรจาขายหุ้นให้กับกลุ่ม บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) แต่ก็จบไปแล้ว และไม่ได้มีนโยบายที่จะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใน NOK โดยตรง แต่หากมีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจก็อาจเปิดทางให้เข้ามาเป็นพันธมิตรในด้านต่าง ๆ แต่กลุ่ม"จุฬางกูร"ยังยืนยันหลักการที่จะถือหุ้นใหญ่ใน NOK

ซีอีโอ NOK เปิดเผยว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเดือน มิ.ย.62 ได้เข้าไปศึกษาเจาะลึกปัญหาที่ทำให้ NOK ตกอยู่ในสถานะธุรกิจย่ำแย่ เพื่อหยุดการขาดทุนให้เร็วที่สุด พบว่าปัญหาสำคัญคือรายจ่ายเกิอบทุกด้านสูงเกินควร และรายได้ต่ำกว่าสายการบินอื่น ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น จึงต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางของบริษัทเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเป็นบวกให้ได้ โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันของฝ่ายบริหารของบริหารอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และจะเข้าสู่การทำ Workshop ก่อนสรุปแผน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจากนี้

"ผมเข้ามาวิเคราะห์เจาะลึกงบการเงิน ทำให้เห็นปัญหาแล้วทั้งรายจ่ายที่สูงมาก และทำไมรายได้ถึงต่ำกว่าสายการบินอื่น ทำให้เห็นทางแก้ที่จะเป็นทางรอดของนกแอร์...เราหารือแผนกันทุกอาทิตย์ แผนต้องสรุปให้ได้ไม่เกิน 1 เดือน ผู้บริหารหลายคนไม่เจอเจอธุรกิจขาลง ก็ต้องหาพี่เลี้ยงให้ บางคนทำงานแต่ไม่ได้บอกใคร ต้องจับมาทำ workshop เพื่อให้การทำงานเกิดความร่วมมือกัน"นายวุฒิภูมิ กล่าว

ปัญหาสำคัญคือด้านรายจ่าย โดยเฉพาะค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ค่าอะไหล่สูงกว่าราคาตลาดถึงราว 38% ยังไม่รวมค่าแรง และปัญหาการซ่อมบำรุงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การใช้งานเครื่องบินของ NOK ในอดีตไม่มีประสิทธิภาพมากพอ บางครั้งต้องจอดรอซ่อมถึง 2-4 ลำ ทำให้เกิดปัญหาเครื่องบินดีเลย์ และไม่สามารถขยายจุดบินใหม่ ๆ ได้

ขณะนี้บริษัทเจรจาหาผู้ให้บริการซ่อมเครื่องบินรายใหม่ หลังจากสัญญาที่ทำไว้กับรายเดิมทำให้บริษัทเสียเปรียบ ซึ่งคู่เจรจาใหม่รายหนึ่งมาจากสิงคโปร์ ส่วนอีกรายยังมาจากอีกประเทศ ระหว่างนี้บริษัทก็ลงทุนจัดตั้งศูนย์อะไหล่ของตัวเอง ใช้งบลงทุนรวมราว 100 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้วระดับหนึ่ง ทำให้ปัญหาการดีเลย์จากการรอซ่อมบำรุงหมดไป

นอกจากนั้น ยังมีสัญญาบริการต่าง ๆ ที่บริษัทใช้บริการจาก Outsource ทั้งบริการภาคพื้น การรักษาความปลอดภัย การรขนส่งและโลจิสติกส์ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินควร ซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองราคาให้ต่ำลง และหากสัญญาใดหมดอายุลงก็จะเปิดให้รายใหม่แข่งขันเสนอราคาเข้ามา อีกทั้งจำนวนพนักงานมากกว่าปริมาณงาน ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่จะปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากพนักงานลาออกก็จะไม่จ้างคนใหม่มาทดแทน

ขณะที่ในด้านการเพิ่มรายจ่ายนั้น เบื้องต้นจะมีการเพิ่มจำนวนเครื่องบิน ซึ่งภายหลังจากการรปลดเครื่องบินแบบ ATR จำนวน 2 ลำไปเมื่อกลางปี ทำให้ปัจจุบันฝูงบินของ NOK มีเครื่องบินเหลือ 2 แบบ คือ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ และ Q400 จำนวน 8 ลำ ลดลงจากเดิมที่เคยมีจำนวนมากกว่า 30 ลำ โดยจะเช่าเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มเข้ามาอีก 2 ลำ เพื่อรองรับการบินในช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 4/62 ขณะที่จะขอเปิดเจรจากับทางโบอิ้งเพื่อฟื้นสัญญาเช่าเครื่องบิน 6 ลำที่มีกำหนดส่งมอบในปี 63-64 ที่ถูกทางโบอิ้งยกเลิกสัญญาเนื่องจากบริษัทไม่ได้จ่ายเงินมัดจำในงวดที่ 2

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะเพิ่มจุดบินใหม่ในญี่ปุ่น อินเดีย และจีน โดยจะเปิดบินไปยังเมืองอิโรชิมาในเดือน พ.ย.62 และอยู่ระหว่างศึกษาการเปิดจุดบินไปยังเซนได ขณะที่จะเปิดบินไปยังเมืองกูวาฮาติและวิสาหะนัมทางตอนเหนือของอินเดียราวเดือน ต.ค.62 ส่วนในจีนมีหลายจุดบินที่อยู่ระหว่างเตรียมการ หนึ่งในนั้นคือเมืองอี้อู๋ที่เป็นเมืองการค้า รวมทั้งศึกษาการเปิดจุดบินเพิ่มในเวียดนามจากเดิมบินตรงไปยังฮานอย ขณะเดียวกัน จะพิจารณาเพิ่มจุดบินในประเทศที่มีความต้องการสูง ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน (Utilization) ให้เป็นมากกว่า 11 ชม./วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 9 ชม./วัน

พร้อมกันนั้น บริษัทจะเดินหน้าเจรจาทำข้อตกลงอินเตอร์ไลน์กับสายการบินต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในไทยกรุ๊ป หรือ เพียวไทย คือ บมจ.การบินไทย (THAI) , ไทยสมายล์ , บมจ.บางกอกแอร์เวย์ (BA) รวมถึงสายการบินต่างชาติ เพื่อส่งต่อผู้โดยสารให้กัน ซึ่งจะเป็นช่องทางการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้กับบริษัท และทำให้ผู้โดยสารของ NOK เดินทางไปยังจุดบินต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเอเชีย อย่างเช่น เกาหลี และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

บริษัทยังมีโครงการรเพิ่มรายได้ด้วยการร่วมมือกับตัวแทนด้านท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ และต่างประเทศ เพื่อจัดบริการครบวงจรนำเสนอให้กับลูกค้า และมีรายได้จากส่วนลดที่ได้มา นำร่องด้วยโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงแรม โดยจะคัดเลือกโรงแรมขนาดมากกว่า 100 ห้องในแต่ละจังหวัด เพื่อขายเป็นแพคเกจตั๋วเครื่องบิน+ค่าโรงแรม จากนั้นจะต่อยอดไปยังบริการนำเที่ยวท้องถิ่นด้วย จากก่อนหน้านี้บริษัทได้นำเสนอรูปแบบบริการ Fly and Ride และ Fly and Ferry เพื่อให้บริการไปยังเมืองรองและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงกับจุดบินของ NOK

นายวุฒิภูมิ กล่าวอีกว่า NOK ยังเจรจากับเครือข่ายธุรกิจที่กลุ่มจุฬางกูรเข้าไปถือหุ้นเพื่อเชื่อมโยงต่อยอดการให้บริการ เช่น บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) โดยจะใช้สาขาร้านของ SE-ED ในการจองตั๋วโดยสาร ทดลองจาก 10 สาขาในกรุงเทพฯ ก่อนในเดือน ก.ย.62 และเจรจากับ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) เพื่อใช้ฐานข้อมูลลูกค้าของ A-Money และไอร่า แฟคตอริ่ง ให้เข้ามาเป็นลูกค้าของ NOK และในอนาคตอาจจะเพิ่มบริการสินเชื่อรายย่อยในการซื้อตั๋วโดยสารด้วย

รวมทั้ง บริษัทยังจะเพิ่มรายได้ในด้านอื่น ๆ เช่น การขายสินค้าบนเครื่องบิน หลังจากที่ไม่ได้มีการพัฒนาสินค้ามานาน

"ผมคิดแบบนี้ นกแอร์จะต้องมีรายได้เพิ่มจากค่าตั๋วอีกกี่บาท (บัญชี) ถึงจะเป็นตัวดำ"นายวุฒิภูมิ กล่าว

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า แผนงานต่าง ๆ น่าจะทำให้ NOK พื้นจากขาดทุนได้ แต่ในปีนี้คงยังไม่ทัน แม้จะมีการแก้ไขปัญหาไปแล้วบางจุด ดังนั้น ผลประกอบการของปี 62 คงยังมีการขาดทุนอยู่ แต่เบื้องต้นหากไม่มีแผนแก้ไขปัญหาธูรกิจ จำนวนผู้โดยสารในปีนี้น่าจะยังทรงตัวที่ 9 ล้านคน และ Cabin Factor อยู่ที่ราว 85-90% แต่ในปีหน้าน่าจะเริ่มเห็นผลสำเร็จ ซึ่งเงินกู้จากบุคคลเฉพาะเจาะจง 3 พันล้านบาท เพียงพอต่อการขยายธุรกิจตามแผนงาน เพราะขณะนี้ใช้ไปราว 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ นกสกู๊ต และต้นทุนดอกเบี้ยที่ราว 6% ถือว่ารับได้

และบริษัทยังไม่เห็นความจำเป็นของการเพิ่มทุนรอบใหม่ ส่วนการถือหุ้นของ THAI ใน NOK ก็ยังคงเป็นไปตามเดิม โดยยังไม่มีสัญญาณจาก THAI ที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาการเจรจาความร่วมมือต่าง ๆ กับ THAI ก็ยังเป็นไปได้ด้วยดี

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/62 จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 8 ส.ค.นี้ และจะมีการแต่งตั้งกรรมการบริษัทที่ว่างอยู่อีก 1 ตำแหน่งให้ครบ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจค่อนข้างสูง และมีคอนเน็คชั่นที่ดี เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของ NOK ได้ด้วยดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ