FETCO เสนอนำกองทุน SEF ทดแทน LTF กำหนดแนวทางลงทุนชัดเจน แต่ยังคงแนวทางสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 7, 2019 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลังว่า ได้เสนอแนวทางในการจัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดอายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีลงในสิ้นปี 62

ทั้งนี้ จะมีการกำหนดแนวทางการลงทุนของกองทุน SEF อย่างชัดเจน ไม่ใช่การลงทุนอิสระเหมือนที่ผ่านมา โดยเบื้องต้น 65% จะต้องลงทุนในหุ้นที่มีความยั่งยืน มีธรรมาภิบาล เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งจะต้องลงทุนในกองทุนที่รองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ส่วนที่นอกเหนือจากนี้ให้สามารถไปลงทุนอะไรก็ได้

กองทุน SEF จะมีบทบาทในการตอบโจทย์การสนับสนุนการลงทุนของประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการสนับสนุนให้เกิดการออมเงินผ่านตลาดทุน ซึ่งได้ผลตอบแทนดี เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ รวมทั้งเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนของคนไทยด้วย

"เห็นตรงกันว่ากองทุน LTF สิ้นสุดบทบาทไปแล้ว หลังจากดำเนินการมากว่า 15 ปี มาถึงวันนี้โจทย์ของประเทศเปลี่ยน กองทุน SEF คือ กองทุนใหม่ที่ได้มีการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยยังคงแนวทางเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ รมว.คลังเห็นด้วย และขอนำไปพิจารณาต่อ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเสนอรายละเอียด" นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับหลักการด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุนในกองทุน SEF คือ การช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีการเสนอให้ผู้ที่มีรายได้สูงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง คือ เดิมจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ลดเหลือ 2.5 แสนบาท เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ผ่านมานักลงทุนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนมาเยอะแล้ว ส่วนผู้ลงทุนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เดิมจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เกิน 15% ของรายได้ จะเพิ่มเป็น 30% เป็นเครื่องสะท้อนได้ชัดเจนว่ากองทุนใหม่นี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนรายได้น้อยถึงปานกลางมากขึ้น โดยจะต้องถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน

นอกจากนี้ ได้มีการเสนออีกหลายประเด็นให้รัฐบาลพิจารณา เช่น การทำหน้าที่เป็นนักลงทุนสัมพันธ์ โดยมีบทบาทหลักในการสื่อสารข้อมูลกับกลุ่มนักลงทุนเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจที่จะช่วยรัฐบาลผลักดันเรื่องความยั่งยืน กระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักรู้ถึงการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เพื่อเงินเพียงอย่างเดียว

นายไพบูลย์ มองว่ากองทุนใหม่นี้จะไม่สร้างภาระที่มากขึ้นให้กับภาคการคลังของประเทศแน่นอน เพราะต้องเข้าใจว่าปัจจุบันคนที่ออมเงินผ่านการลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้มาก ซึ่งในที่นี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลง

อย่างไรก็ดี ยังได้มีการเสนอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในเรื่องการบริหารเงิน ซึ่งเดิมตามกฎหมายเสนอให้มีการตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารเงินในส่วนนี้ แต่ภาคเอกชนยังไม่เห็นด้วย และมองว่าควรจะเปิดกว้างในการจัดหาบริษัทที่เข้ามาบริหารเงินได้มากขึ้น ส่วนบริษัทที่มีกองทุนประเภทเดียวกันอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้มี กบช. อีก ซึ่ง รมว.การคลังเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังไม่ได้มีการตอบรับใด ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ