นายภาณุ ศีติสาร ประธานกรรมการ บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายรายได้ปี 67 จะเติบโตแตะระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท หลังการควบรวมกิจการบริษัท บิ๊กแก๊ส เทคโนโลยี จำกัด (BIGGAS) ด้วยวิธีการแลกหุ้น ส่งผลให้บริษัทถือหุ้นใน BIGGAS เป็น 100% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 51% ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ BIGGAS ก็จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท
พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกแผนการนำหุ้น BIGGAS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกลางปี 61 ได้ว่าจ้างให้บล.ฟินันเซีย ไซรัส เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการทำข้อมูลยื่นแบบไฟลิ่ง ทำให้พบข้อจำกัดหลายประการในการนำ BIGGAS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น โครงสร้างธุรกิจที่ยากจะแยกออกมาชัดเจน เนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มีความใกล้เคียงและเหลื่อมล้ำกันอยู่ ทำให้อาจจะมีประเด็นจำกัดขีดความสามารถซึ่งกันและกัน, การพึ่งพิงรายได้จากการที่ BIGGAS มีแนวโน้มรายได้ที่เติบโตในระยะยาว อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ตลาดมีมุมมองไม่ยินยอมให้ Spin Off, ภาระหนี้สิน และการกู้ยืมเงินของบริษัทย่อย จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ทำให้บริหารจัดการยาก หากถือหุ้น 51% ไม่ว่าจะโครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างเงินกู้
นอกจากนี้ภาวะตลาดการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในขณะนี้ค่อนข้างชะลอตัวลง และราคาหุ้น IPO ที่ถูกกดราคาลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E ของอุตสาหกรรม ถึงจะสามารถขาย IPO ได้หมด หรือมีการรับประกันการจำหน่าย ซึ่งจากที่คำนวณ เดิมบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่เมื่อตลาด IPO ไม่เอื้อ อาจจะทำให้ได้เงินจากการระดมทุนต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มกับการที่ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไป
นอกจากนี้ยังมองว่าการเกิดผลิตภัณฑ์ 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีโครงสร้างการบริหารที่ใกล้เคียงกัน อาจจะส่งผลให้นักลงทุนย้ายไปถือหุ้นที่มีแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เติบโตชัดเจน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ไม่ว่าค่าเบี้ยประชุมกรรมการ ค่าผู้สอบ ค่าการจัดการบริหารงานในการเป็นบริษัทจดทะเบียน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ซึ่งหากประหยัดได้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การไม่แข่งขันกันเองในอนาคต ซึ่งยากที่จะควบคุม เนื่องจากธุรกิจทั้งสองบริษัทอยู่ในเรื่องพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกัน การเกิดความร่วมมือกับพันธมิตรของแต่ละฝ่ายอาจจะมีข้อจำกัด และส่งผลเสียต่อกันและกัน
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของกันและกัน และมองเห็นถึงการสร้างความเจริญเติบโตแบบยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาว บริษัทจึงเห็นร่วมกันกับผู้ถือหุ้น BIGGAS ว่า ควรที่ทำการควบรวมกัน โดยการทำ Share Swap ซึ่งน่าจะเป็นการทำให้กิจการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในทุกมิติ และไม่ขัดแย้งกันเอง เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
อนึ่ง คณะกรรมการ PSTC เมื่อวานนี้ อนุมัติการรับโอนหุ้น BIGGAS จำนวน 49% จากบริษัท บีจีที โฮลดิ้ง จำกัด (BGTH) ด้วยมูลค่า 4.26 พันล้านบาท ส่งผลให้บริษัทถือหุ้นใน BIGGAS เพิ่มเป็น 100% จากเดิม 51% ขณะที่บริษัทจะชำระค่าโอนหุ้น BIGGAS ด้วยหุ้นเพิ่มทุนที่จะออกใหม่ให้กับ BGTH จำนวน 4.98 พันล้านหุ้น เสนอขายที่ราคาหุ้นละ 0.86 บาท โดยคาดว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/62
สำหรับ BGTH เป็นนิติบุคคลซึ่งมีนายธนัช ปวรวิปุลยากร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PSTC ภายหลังการรับโอนกิจการดังกล่าวแล้ว โดยกลุ่มธนัชจะถือหุ้นใน PSTC รวมประมาณ 35% ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ก่อตั้งของ PSTC ซึ่งประกอบด้วย นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส นางวัลลภา ไตรโสรัช นายภาณุ ศีติสาร และนายพระนาย กังวาลรัตน์ จะยังถือหุ้นในสัดส่วน 35% จากเดิมที่ถืออยู่ราว 60% ส่วนที่เหลือเป็นพันธมิตรรายใหญ่อีกประมาณ 5% โดยยังคงมีฟรีโฟลตในระดับ 25%
นายภาณุ กล่าวว่า ภายหลังการควบรวม BIGGAS ทำให้ PSTC มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาที่ 9 พันล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 7 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาการย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 63 เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตต่อไป
ด้านนายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ PSTC กล่าวว่า แผนการดำเนินงานหลังจากการควบรวม BIGGAS แล้ว โครงสร้างธุรกิจจะมีด้วยกัน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก และอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหลัก โดยมีเป้าหมายเติบโตทั้งในและต่างประเทศ, ธุรกิจระบบไฟฟ้า และ Engineering Management ,ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC ) โรงไฟฟ้า และงาน EPC ด้าน Oil&Gas , ธุรกิจจำหน่ายแก๊ส ทุกประเภท ที่ดำเนินงานภายใต้ BIGGAS และธุรกิจส่งน้ำมันทางท่อ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN)
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน บริษัทตั้งเป้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 3 ปี หลังจากรัฐบาลจะปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พลังงานทดแทนเติบโต โดยบริษัทก็ได้โฟกัสในเรื่องของ Private PPA และโรงไฟฟ้าชุมนุมต่าง ๆ ขณะเดียวกันบริษัทก็มีเป้าหมายจำหน่ายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากพลังงานทดแทนด้วย ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะรู้ผลได้ในเร็ว ๆ นี้
ธุรกิจการจำหน่ายแก๊ส ทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปัจจุบันมียอดขายอยู่ที่ 2 พันล้านบาท คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง และ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ปัจจุบันมีสถานีบริการ NGV ซึ่งเป็นสถานีบริการตามแนวท่อของบมจ.ปตท. (PTT) จำนวน 2 แห่งรวมถึงการขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายของปตท. ก็มีสิทธิขาย LNG นอกท่อ ที่ท่อของปตท.ไปไม่ถึง โดยปีนี้มีรายได้เริ่มต้นแล้วมากกว่า 100 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 63 คาดมีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าธุรกิจดังกล่าวจะสร้างเติบโตอย่างมากในอนาคต
ธุรกิจส่งน้ำมันทางท่อ ที่ผ่านมากลุ่มบริษัท TPN ได้เข้าไปลงทุนวางท่อส่งน้ำมันตั้งแต่ จ.สระบุรี ไปจนถึง จ.ขอนแก่น รวมระยะทาง 350 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/64 ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 64 จะมีรายได้จากการขนส่งน้ำมันทางท่อเข้ามา และในระยะถัดไปบริษัท ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพิ่มจากจ.ขอนแก่น ไปยังประเทศลาว โดยบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายราย เพื่อเข้ามาร่วมลงทุนใน TPN คาดว่าจะสามารถสรุปได้ในไตรมาส 3/62 ซึ่งการเข้ามาของพันธมิตรจะช่วยลดภาระเรื่องของการลงทุน และเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงิน และการพัฒนาโครงการ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51%
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง EPC ทำระบบไฟฟ้า โรงไฟฟ้า, ท่อน้ำมัน, ท่อแก๊ส ก็เชื่อว่ายังมีการเติบโตต่อเนื่อง
"การควบรวมที่จะเกิดขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจทั้งหมด โดยภายหลังการควบรวมจะเกิดภาพของการช่วยกัน และขยายธุรกิจ ตามวิสัยทัศน์ที่เราได้วางไว้ คือการเป็นผู้นำทางด้านบริหารจัดการระบบไฟฟ้า และพลังงานของประเทศ"
นายพระนาย กล่าวอีกว่า เป้าหมายของกลุ่มบริษัทคือการเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของ 5 กลุ่มธุรกิจ โดยปีนี้คาดว่ารายได้จะเติบโต 25-30% ตามการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือที่มีอยู่ 3 พันล้านบาทในช่วง 2 ปีนี้ โดยในครึ่งหลังปีนี้บริษัทมีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวภาพ 4.6 เมกะวัตต์ ในปลายเดือนส.ค.นี้ และอยู่ระหว่างเจรจากับทางภาครัฐ ในโครงการใหม่ ๆ ที่รัฐสนับสนุน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน
ส่วนปี 63 คาดรายได้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด 40% จากการจำหน่ายแก๊สมากกว่า 1,000 ล้านบาท และการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ และในปี 64 คาดว่ารายได้น่าจะเติบโตได้ราว 30-40% ตามเป้าหมาย ซึ่งจะมาจากธุรกิจการจำหน่ายแก๊สเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายรายได้ในปี 65 จะเพิ่มเป็น 8 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากธุรกิจการจำหน่ายแก๊ส 50%, ธุรกิจส่งน้ำมันทางท่อ 15%, ธุรกิจการจำหน่ายไฟฟ้าฯ 20-30%, EPC 10-20% และที่เหลือเป็นธุรกิจ Engineering Management ซึ่งจะช่วยผลักดันให้รายได้ในปี 67 ก้าวขึ้นสู่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อไป
นายพระนาย กล่าวว่า บริษัทได้วางงบลงทุนรวม ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทรองรับแผนการลงทุนในช่วง 3 ปี แบ่งเป็น ใช้ในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มี PPA อยู่แล้ว 1 พันล้านบาท และหา PPA เพิ่ม ทั้ง Private PPA และโซลาร์รูฟ อีก 40 เมกะวัตต์ วางงบลงทุนไว้ 1 พันล้านบาท รวมถึงลงทุนในท่อน้ำมัน ซึ่งบริษัทได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 8.8 พันล้านบาท และจะทยอยใช้ปีละ 3.3 พันล้านบาท โดยการก่อสร้างในปัจจุบันถมที่ไปแล้ว 70% ที่บ้านไผ่ ที่คลังน้ำมันปลายทาง และได้ยื่นขอกรมธุรกิจพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้เดือน พ.ย.62 อีกทั้งจะใช้ในธุรกิจการจำหน่ายแก๊ส 300 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากแหล่งเงินทุนจากธนาคารกสิกรไทยทั้งหมด
ขณะที่บริษัทยังมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมองผลตอบแทนจากการลงทุนไม่น้อยกว่า 10% และต้องเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงด้วย