บล.กสิกรไทย มองนลท.กังวลภาพรวมกำไร-ภาวะศก.ใน Q2/62 พร้อมชูกลยุทธ์เลือกหุ้นแนวโน้มกำไร H2/62 ดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 7, 2019 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาพรวมกำไรของตลาดหุ้นไทยจากแรงต้านด้านเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GPD) ประจำไตรมาส 2/62 ของไทยที่กำลังจะประกาศในวันที่ 19 ส.ค.62 นี้มีแนวโน้มน่าจะออกมาต่ำกว่า 3% ขณะที่นักวิเคราะห์เองก็ประเมินกำไรในไตรมาส 2/62 โดยรวมของตลาดหุ้นไทยลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 15.7% จากไตรมาสก่อน สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

รวมทั้งประเด็นการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านมาตรการการบังคับใช้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และการตั้งสำรองผลประโยชน์การเกษียณพนักงาน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ให้มุ่งเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นเด่นที่คาดว่ากำไรไตรมาส 2/62 เติบโตโดดเด่น และแนวโน้มกำไรครึ่งหลังของปีจะออกมาดี โดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโตโดดเด่น และธุรกิจมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ ซึ่งคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่เติบโตขึ้นและได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในครึ่งปีหลัง

กลุ่มการเงิน คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อ และต้นทุนการเงินที่ลดลงจากทิศทางดอกเบี้ยขาลง, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 347% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามยอดขายที่ดินที่สูงขึ้น รวมถึงรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ในเดือน ต.ค. 2561 และรายได้รวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

กลุ่มผลิตไฟฟ้า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 199% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แรงหนุนจากการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น ส่วนต่างราคาพลังงานที่กว้างขึ้น จากต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลงและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ไม่โดดเด่น แต่กำไรปกติยังโตดี และคาดครึ่งหลังของปี 62 จะเติบโตเด่น ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ลดลง 18% จากงวดปีก่อน จากอัตรากำไรที่ดีขึ้นตามทิศทางราคาขายที่สูงขึ้น หรือต้นทุนลดลง และการส่งออกขยายตัวจากการเจาะตลาดใหม่ๆ

กลุ่มสื่อสาร คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ลดลง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากหักรายการพิเศษจากการขายสินทรัพย์ของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในปีก่อน คาดกำไรจะเติบโต 9% ในไตรมาส 2/62 กำไรที่เติบโตดีได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการเติบโตรายได้จากการบริการมือถือ และการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งอุตสาหกรรม

กลุ่มโรงพยาบาล คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แรงหนุนจากการแพร่กระจายของโรคระบาดในไตรมาส 2/62 ขณะที่ภาพรวมครึ่งหลังของปีดีขึ้นจากอัตรากำไรที่มากขึ้น , กลุ่มขนส่ง คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร, จำนวนนักท่องเที่ยว และส่วนต่อขยายสาย ๆ

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ทรงๆ หรือลดลงมาก และแนวโน้มครึ่งหลังของปี 62 มีแนวโน้มอ่อนแอ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ลดลง 70% จากงวดปีก่อน จากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เป็นขาลง รวมถึงการขาดทุนจากสต๊อก และอุปสงค์ที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า

กลุ่มพลังงาน คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ลดลง 8% จากงวดปีก่อน จากราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ,กลุ่มธนาคาร ซึ่งรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 เพิ่มขึ้น 2% จากงวดปีก่อน ชะลอตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ลดลง 36% จากงวดปีก่อน กำไรอ่อนแอเพราะอุปสงค์ที่อ่อนแอในกลุ่มคอนโดฯ และคุณภาพเครดิตของกลุ่มผู้ซื้อบ้านที่ลดลง หลังจากมีการบังคับใช้ LTV

ในส่วนกลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มที่คาดว่ากำไรไตรมาส 2/62 และแนวโน้มกำไรโน้มครึ่งหลังของปี 62 จะออกมาดีต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (CPALL และ COM7) ซึ่งจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากรายได้ในครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งจะกลายมาเป็น SSSG ที่สูงขึ้น กลุ่มสื่อสาร (TRUE, DTAC, INTUCH, ADVANC และ JAS) ปัจจัยจากทิศทางการเติบโตของรายได้ตลาดมือถือ อีกทั้งการแข่งขันที่ลดลงและค่าใช้จ่ายที่ลดลง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA) เนื่องจากจะได้ประโยชน์มากที่สุดจาก FDI ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และจากการย้ายฐานการผลิตมาจากจีน

กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFFIF และ JASIF) จากเงินปันผลที่น่าจูงใจ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (CPF) จากราคาเนื้อสุกรที่แข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 62 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค AFS ในเวียดนาม กลุ่มท่องเที่ยว (AOT และ MINT) จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังปี 62 กลุ่มขนส่งทางราง (BTS และ BEM) จะได้ประโยชน์จากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และกลุ่มโรงพยาบาล (BDMS) จากภาพรวมกำไรครึ่งหลังปี 62 ที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ