นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 บริษัทมีกำไรสุทธิประมาณ 464 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% จากระดับกำไรสุทธิ 388 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลจากสภาพอากาศที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความเข้มแสงในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท
รวมทั้งมีการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) รวม 2 โครงการ ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปลายเดือน ก.ค.61 และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม"ลมลิกอร์"เมื่อกลางเดือน เม.ย.62 คิดเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ 848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 ประมาณ 5% อ่อนตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 61
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 31 ล้านบาท จากสกุลเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินเยน รวมถึงมีการบันทึกค่าใช้จ่ายตัดจำหน่ายเกี่ยวกับการทำ refinance สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ในโครงการโรงไฟฟ้ำพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ 122.7 ล้านบาท ในไตรมาส 2/61
ณ วันที่ 30 มิ.ย.62 บริษัท มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 31,490 ล้านบาท ทรงตัวจากสิ้นปี 2561 ส่วนหนี้สินรวมอยู่ที่ 16,110 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยประมาณ 2%
"ผลงานไตรมาสที่สองของปีนี้ เป็นไปตามแผนงานของบริษัท โดยมีการรับรู้รายได้จากโครงการที่ลมลิกอร์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เรายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโดยตั้งเป้า EBITDA เติบโต 15-20% ด้วยเงินลงทุน 50,000 ล้านบาทสำหรับ 5 ปี (ปี 63-67) ใช้กลยุทธ์ 4Es ในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร"นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ 4Es ประกอบด้วย Expanding มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจหลักของบริษัท ด้วยการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปยังประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโครงการในลักษณะ greenfield development ให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ,
Extending ขยายธุรกิจเพื่อรองรับทิศทางของธุรกิจพลังงานในอนาคต อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงธุรกิจต่อยอดภายในกลุ่มบริษัทบางจาก เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) จากการลงทุนเหมืองลิเทียมของบางจาก
Enhancing การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ องค์ความรู้ในเชิงลึก พัฒนาศักยภาพของพนักงานและกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ Evaluating บริหารสินทรัพย์ด้วยการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนเมื่อได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า
นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทได้สมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำหรับโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 (T77) และโครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) เพื่อให้ได้รับการยกเว้นกฏระเบียบสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจะเป็นการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐครั้งแรกในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานในอนาคต เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy ของบริษัท