นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) อยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะใช้เงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Intregrated PET จำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่ม Intregrated Oxsides & Derivatives จำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งล่าสุดบริษัทเข้าซื้อกิจการของ Huntsman และที่เหลือ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจะลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Recyling, กลุ่มธุรกิจ Fibers และ กลุ่มธุรกิจ Packaging
นอกจากนี้ หากมีดีลซื้อกิจการที่น่าสนใจ บริษัทก็ยังมีความสามารถพร้อมลงทุน โดยมีงบลงทุนอีกราว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากงบการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นมิ.ย.62 มีอัตราหนี้สินสุทธิ (NET D/E) ที่ 0.94 เท่า
ขณะที่การเติบโตของกำไรหลักก่อนหักดอกเบี้ย ,ภาษีเงินได้ , ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Core EBITDA) ในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) ตั้งเป้าเติบโตเท่าตัวเป็นประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.44 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 61 โดยในปี 62 คาดว่าว่า Core EBITDA จะอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัญ แต่ในปี 63 จะปรับตัวดีขึ้นหลังรับรู้รายได้กิจการ Hunstman
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.6 ล้านตันในปี 66 จาก 10.4 ล้านตันในปี 61 โดยมีสัดส่วนรายได้จากกำลังผลิตในสหรัฐฯ เป็น 8.2 ล้านตัน จาก 3.7 ล้านตันในปี 61 ยุโรป 5.1 ล้านตัน จาก 3.3 ล้านตันในปี 61 และ 5.3 ล้านตันในเอเชีย จาก 3.4 ล้านตันในปี 61
นายอาลก กล่าวอีกว่า คาดว่า Core EBITDA ในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะดีกว่าครึ่งแรกปีนี้ที่อยู่ในระดับ 667 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มธุรกิจ Intregrated Oxsides มีการหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุง 4 เดือน และ กลุ่มธุรกิจ Specialty Chemicals ปิดซ่อมบำรุง 2 เดือน ซึ่งต้องใช้เวลา 12-18 เดือนที่จะกลับมาจุดเดิม
สำหรับการเข้าซื้อกิจการ Huntsman ในครั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4/62 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 63 ขณะที่บริษัทจะกู้จากสถาบันการเงินแห่งเดียวจำนวน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ในการซื้อกิจการครั้งนี้ และเงินทุนจากกระแสเงินสดโดยไม่มีแผนจะเพิ่มทุนแต่อย่างใด
นายอาลก กล่าวว่า หลังจากที่ได้กิจการ Huntsman เข้ามาจะทำให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นในปี 63 โดยคาดว่า EBITDA ในกลุ่ม Intregrated Oxsides & Derivatives มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผลการดำเนินงานในกลุ่ม Specialty Chemicals กลับมาดีขึ้น และการซื้อกิจการครั้งนี้ช่วยเสริมกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจออกไซด์แบบบูรณาการและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษของ IVL ให้แข็งแกร่ง รวมทั้งเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มในกลุ่มอนุพันธ์เอทิลีนออกไซด์ (EOD) และอนุพันธ์โพรพิลีนออกไซด์
"ธุรกิจที่เข้าซื้อเป็นธุรกิจที่ทำกำไร มีการเติบโต และโดดเด่นแตกต่างจากธุรกิจโอเลฟินส์อื่นๆในอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าซื้อต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับต้นทุนการสร้างโรงงานใหม่ จึงถือว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการที่เปลี่ยนเกมธุรกิจของ IVL และเป็นการเข้าซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท และเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการโดยลบริษัทไทยที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา"นายอาลก กล่าว
นอกจากนี้ การลงทุนครั้งนี้ทำให้ผลกำไรเพิ่มขึ้นต้งแต่ปีแรกที่เริ่มประกอบการเต็มรูปแบบ และผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันจะช่วยเพิ่ม EBITDA จากสินทรัพย์เหล่านี้ปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 65 ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้ Core EBITDA ของบริษัท เสมือนเพิ่มขึ้น 25% ในปี 61
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVL กล่าวอีกว่า บริษัทแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพราะโมเดลธุรกิจของ IVL มีการกระจายฐานการผลิตทั้งในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศนั้นๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 90% ส่วนอีก 10% ที่เป็นการส่งออก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก็ไม่ได้กังวลเพราะสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงเนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนสต็อก ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการลงบัญชีตามราคาตลาด ขณะที่บริษัทสามารถมีการเติบโตของ Core EBITDA ต่อเนื่องที่ทำให้กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแรง