SKE แจงผลงาน H1/62 หดตามปริมาณอัดก๊าซ-ใช้ก๊าซ หวังธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลหนุน พร้อมหาโอกาสลงทุนพลังงานสะอาดเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2019 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) เปิดเผยว่า ครึ่งแรกปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 149.82 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 มีรายได้ 172.50 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการอัดก๊าซที่ลดลงจากสภาวะอุตสาหกรรมขนส่งที่ลดลงตามปริมาณการส่งออกนำเข้าของประเทศ และจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มีการใช้ก๊าซ NGV น้อยลง

งวดครึ่งแรกของปี 62 บริษัทมีกำไรสุทธิ 23.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 30.74 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 61 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ SKE มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจด้านพลังงานอย่างครบวงจร ซึ่งธุรกิจหลัก 2 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจบริการอัดก๊าซ NGV ให้รถขนส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ. ปตท. (PTT) ซึ่งปัจจุบันมีสถานีก๊าซธรรมชาติของบริษัท 2 สถานี คือ สถานีก๊าซธรรมชาติหลักปทุมธานี และ สถานีก๊าซธรรมชาติหลักสระบุรี ซึ่งมีกำลังการอัดก๊าซสูงถึง 750 ตัน/วัน จึงมีแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านานถึง 20 ปี

2. ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้า จำนวน 8 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตราค่ารับซื้อไฟเฉลี่ยที่ 4.62 บาท ต่อหน่วยตลอดอายุสัญญา 20 ปี 3. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) จากน้ำเสียในจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้บริษัทย่อย ซึ่งเมื่อรวมรายได้จากทั้ง 3 ธุรกิจนี้ ทำให้ SKE มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องระยะยาว

นอกจากนี้ SKE กำลังมองหาโอกาสในการเติบโตในธุรกิจพลังงานสะอาด และด้วยสถานะการเงินที่เข้มแข็ง มีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ดี คือ 0.59 เท่า SKE จึงมีศักยภาพในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

นายจักรพงส์ กล่าวว่า SKE ประสบความสำเร็จในการเปิดการจำหน่ายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิง จังหวัดแพร่ ภายใต้สัญญาขายไฟ 8 เมกะวัตต์กับ กฟภ.อัตรารับซื้อไฟเฉลี่ยที่ 4.62 บาทต่อหน่วยตลอดอายุสัญญา 20 ปี จากกำลังการผลิตไฟฟ้าเต็มที่ 9.9 เมกะวัตต์

และที่สำคัญ บริษัทได้ปิดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ โดยทำข้อตกลงซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟล่วงหน้ากับผู้ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิง Wood Pellet (เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด) รายใหญ่ในภาคเหนือ และ บริษัท แพร่กรีนพาวเวอร์ จำกัด (PGP) เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี เท่ากับอายุสัญญาของเวลาขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟภ.จึงเป็นการปิดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจังหวัดแพร่มีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1 ล้านไร่จึงมีของเสียจากการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้จำนวนมาก และโรงไฟฟ้าแม่กระทิงเป็นโรงไฟฟ้าแบบ Multi-fuel จึงสามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายประเภท

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะต่อยอดความสำเร็จจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่กระทิง ด้วยการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้กว่า 30 เมกะวัตต์ และ สร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 65 เพื่อสร้างฐานธุรกิจพลังงานที่เติบโตและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนและเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ