BGRIM ยันโครงการโรงไฟฟ้าในเวียดนามไม่ได้รับผลกระทบปัญหาสายส่งและการเชื่อมต่อ grid, ศึกษาโครงการใหม่ใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 14, 2019 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ยืนยันว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามได้แก่ DT1&2 ขนาด 420 เมกะวัตต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิกาคอาเซียน และโครงการ Phu Yen TTP ขนาด 257 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาระบบสายส่งและการเชื่อมต่อ grid ในพื้นที่บริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DT1&2 ตั้งอยู่ที่จังหวัด Tay Ninh ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาสายส่ง และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขายไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ผ่านสายส่ง Tuy Hoa – Nha Trang 220kV ซึ่ง grid มีความพร้อมและเพียงพอที่จะรองรับการจำหน่ายไฟฟ้า

ดังนั้นทั้ง 2 โครงการสามารถจำหน่ายไฟฟ้าและรับรู้รายได้จาก EVN เป็นปกติตั้งแต่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยรับรู้รายได้แล้ว 183 ล้านบาทในไตรมาส 2/62 ตามสัญญาซื้อขายไฟระยะเวลา 20 ปี กับ EVN ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 9.35 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ส่วนโครงการระหว่างก่อสร้างของบริษัทฯ มีความคืบหน้าตามแผน คือโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม Interchem กำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 50.7% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเทเสาและทำระบบสายดินโดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ธันวาคม 2562

ขณะที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 5 โครงการที่เข้าเกณฑ์การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าเดิมที่ให้โครงการ SPP ที่จะหมดอายุสัญญาในระหว่างปี 60-68 สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี วางกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 65 ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถให้บริการด้วยคุณภาพที่สูงแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 8% ในขณะที่สัดส่วนกำลังการผลิตจากโครงการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากเดิม 2% ตอกย้ำการเป็นบริษัทชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการใหม่อีกเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ เป็น 10,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.4% โดยมีสาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 989 เมกะวัตต์ ในช่วงระยะเวลาประมาณตั้งแต่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้ามาจนถึงไตรมาส 2/62 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 12 โครงการ (โครงการโรงไฟฟ้าแบบ SPP 2 โครงการ, โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย 7 โครงการ, โครงการน้ำแจ 1 ใน สปป. ลาว และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม 2 โครงการ)

รวมไปถึงการซื้อหุ้นของบริษัท บี.กริม ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์เพิ่มเติมเป็น 100% ในเดือน ก.ค.61 และการเข้าซื้อโครงการ SPP1 จาก บมจ. โกลว์ พลังงาน ในเดือน มี.ค.62 และ การปรับขึ้นของราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วย

ขณะที่กำไรสุทธิจากงบการเงินรวมอยู่ที่ 1,038 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 626 ล้านบาทสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 191.2% และเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า 17.7%

และหากไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงและรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 886 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 557 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 25.7% จากไตรมาสก่อนหน้า

สาเหตุหลักมาจาก การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าใหม่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม 2 โครงการรวมกำลังการผลิต 677 เมกะวัตต์และโครงการน้ำแจ 1 กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ รวมไปถึงการรับรู้ผลดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการ SPP1 อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลง 2.4% ขณะที่ค่า Ft คงที่ และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการ SPP อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ