นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัท ซุปเปอร์โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นในบริษัท อพอลโล่ โซล่าร์ จำกัด (APL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER จากผู้ถือหุ้นเดิม 2 ราย ในสัดส่วน 25.57% ของทุนจดทะเบียน มูลค่าไม่เกิน 50,625,000 บาท เพื่อให้ SSE ถือหุ้น APL เพิ่มขึ้นจาก 48.86% เป็น 74.43%
ทั้งนี้ APL ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการกำลังการผลิตติดตั้ง 5.4 เมกะวัตต์
รวมทั้งให้บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี จำกัด (SUPER EARTH) เข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท เมืองไทยน่าอยู่ จำกัด (MNY) จาก บริษัท เอนเนอร์จี รีพลับบลิค จำกัด (Energy Republic) ในสัดส่วน 92.54% ของทุนจดทะเบียน มูลค่าไม่เกิน 120 ล้านบาท ส่งผลให้ SUPEREARTH เข้าถือหุ้นทางอ้อมในบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด (NKNY) ในสัดส่วน 62% ของทุนจดทะเบียนของ NKNY
และจัดตั้ง บริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ พีพีเอส จำกัด เพื่อรองรับการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำ 1,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/62 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1,580.66 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,439.72 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 140.94 ล้านบาท หรือ 9.78% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 352.53 ล้านบาท
การเติบโตดังกล่าวมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) สหกรณ์การเกษตร เฟส 2 กำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์ ทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 ทำให้รับรู้ได้เต็มไตรมาส และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เปิด COD เพิ่มเติม
นายจอมทรัพย์ กล่าวถึงทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังว่า มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม ที่ COD ไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จำนวน 4 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 186.72 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีโครงการใหม่ในเวียดนามเพิ่มอีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ จะสามารถ COD ได้ในเดือนต.ค.นี้
นอกจากนี้ SUPER จะมีการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะใน จ.พิจิตร ขนาดกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ยอดรวม COD สิ้นปีนี้แตะ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 800-900 เมกะวัตต์
นายจอมทรัพย์ กล่าวต่อว่า บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวรายได้จากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมในตลาดต่างประเทศ โดยจะเข้าไปลงทุนในกลุ่มอาเซียมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียภายในปี 63
"เรายังคงมองหาโอกาสในการลงทุน ด้านพลังงานทดแทนในตลาดต่างประเทศ ทั้งด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม และแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องเพราะจะเห็นว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตลาด CLMV มีจีดีพีเติบโตค่อนข้างสูง อีกทั้งมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (IRR )สูง ซึ่งจะสนับสนุนต่อช่องทางและฐานรายได้ในอนาคต และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯมีการเติบโตอย่างยั่งยืน"นายจอมทรัพย์ กล่าว