ทริสลดอันดับเครดิต LALIN เป็น “BBB" จาก “BBB+" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 15, 2008 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN)เป็น“BBB"จากระดับ
“BBB+"ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงของบริษัทซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวในตลาดบ้านจัดสรรและนโยบายชะลอการลงทุนของบริษัท นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงประสบการณ์ของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรร ความสามารถในการควบคุมต้นทุน และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ระมัดระวังด้วย ทั้งนี้การชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดบ้านจัดสรรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถประคองตัวผ่านวงจรขาลงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรรไปได้ด้วยนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า LALIN เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางที่ก่อตั้งในปี 2531 โดยนายทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์และนายไชยยันต์ ชาครกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท บริษัทดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเน้นการพัฒนาบ้านจัดสรรในราคาเฉลี่ยประมาณหลังละ 2.7 ล้านบาท ในระหว่างปี 2548-2550 บริษัทมียอดขายบ้านแฝด 52% บ้านเดี่ยว 38% และทาวน์เฮ้าส์ 10% ความสามารถในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าโสหุ้ยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการเสนอราคาขายบ้านที่ไม่แพงในขณะที่ยังคงมีอัตรากำไรที่ดี
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2550 ยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดบ้านจัดสรรที่ยังคงชะลอตัว ในขณะเดียวกันบริษัทก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ นโยบายและกลยุทธ์ของบริษัทในการชะลอดูสถานการณ์และชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทลดต่ำลง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในขณะที่บ้านจัดสรรสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงเพียง 21% จากช่วงเดียวกันของปี 2549 แต่รายได้จากการขายของบริษัทในช่วงเดียวกันของปี 2550 กลับลดลงมากถึง 54% นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อไตรมาสของบริษัทก็ลดลงจาก 191 ล้านบาทในปี 2548 และ 125 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 49 ล้านบาทในปี 2550 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะถดถอยลง แต่สภาพคล่องทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ดี
นอกจากนี้ การมีบ้านสร้างเสร็จคงเหลือมูลค่า 840 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ทำให้บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนเพื่อซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการใหม่ไม่มาก อีกทั้งการมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้อีก 1,176 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำที่ 14% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ทำให้บริษัทยังคงมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินทุน
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบกับวิกฤติการณ์ทางการเงินในต่างประเทศส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยอ่อนตัวลง แม้ว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆ บรรเทาลง แต่ก็คาดว่าอุปสงค์ในที่อยู่อาศัยจะยังคงชะลอตัวต่อไปในปี 2551

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ