นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายการมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 10,000 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 66 แต่ก็มีโอกาสจะทำได้มากกว่าเป้าหมาย หลังจากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 9,222 เมกะวัตต์ และยังอยู่ระหว่างเจรจาหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ทั้งในและอาเซียน 1-2 โครงการคาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป
ขณะเดียวกันจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โครงการที่จะหมดอายุในปี 63-70 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์หมดอายุในเดือนก.ค.63 , โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 68 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 70
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 6,937.58 เมกะวัตต์ ซึ่งรวม 2 โครงการที่ COD แล้วในปีนี้ 77.23 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ในออสเตรเลีย และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่นในไทย ขณะที่ยังเหลืออีก 1 โครงการที่จะ COD ในปีนี้ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อยในลาว กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 102.5 เมกะวัตต์ที่จะ COD ในเดือนธ.ค.นี้ ทำให้ทั้งปี 62 จะมีกำลังผลิตใหม่ที่ COD รวม 180 เมกะวัตต์
ส่วนในปี 63 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ COD รวม 400.73 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ,โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดินในออสเตรเลีย
นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งแรกของปี 62 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.69 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD ในครึ่งแรกของปีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 42.5 เมกะวัตต์ และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่นในไทย กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 34.73 เมกะวัตต์
แนวโน้มการลงทุนในครึ่งหลังของปีนี้การลงทุนยังคงเป็นรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อมีรายได้ทันที ,ลงทุนโครงการ Brownfield เพื่อให้การรับรู้รายได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งโอกาสการลงทุนโครงการลักษณะ Greenfield
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้า ยังคงมองโอกาสการลงทุนในประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ,โครงการพลังงานทดแทนในออสเตรเลีย ,ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Service) ที่ปัจจุบันเจรจากับพันธมิตรอย่างบมจ.นวนคร (NNCL) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) โดยอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับกฟผ.เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะพิจารณาโอกาสการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนวนครว่าจะบริหารจัดการได้อย่างไรบ้าง ,ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการลงทุนโครงการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ในประเทศ อย่างโครงการงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร ของ กฟผ. บริษัทและพันธมิตรก็ได้เข้าไปซื้อซองประมูลเพื่อเข้าร่วมแข่งขันด้วย และในอนาคตกฟผ.ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพื่อสร้างสายส่ง 16-17 โครงการ มูลค่าราว 6-7 แสนล้านบาทก็มีโอกาสที่กฟผ.อาจจะดึงบริษัทในกลุ่มกฟผ.เข้าไปร่วมดำเนินการด้วย เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่ กฟผ.ก็ยังมีโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่อีก 8 โรง ตามแผน PDP2018 ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
ส่วนการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้น ยังคงเน้นการลงทุนในประเทศ โครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งปัจจุบันก็ได้เข้าร่วมพันธมิตรประมูลงานมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) รวมถึงสนใจประมูลโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ๆ ด้วย ,โครงการโทรคมนาคม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 66 อยู่ที่ประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด แต่จะไม่นับรวมพอร์ตการลงทุนสาธารณูปโภคมาเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าแล้ว เพราะโครงการบางประเภทก็ไม่สามารถนับรวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าได้ โดยจะมีการคำนวณพอร์ตการลงทุนสำหรับโครงการสาธารณูปโภคตั้งแต่ในปี 63 เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันการลงทุนสาธารณูปโภค ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู ,โครงการผลิตน้ำประปาแสนดินในลาว รวมถึงร่วมกับบมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทยและมองโอกาสที่จะขยายไปยังลาวด้วย เป็นต้น
สำหรับในครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทมีการลงทุนเพิ่ม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในปี 63 , โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 214.2 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ในปี 63 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองในไทย รวม 2 โรง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 63 และเจรจางาน EPC และเงินกู้โครงการแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 63 เริ่มก่อสร้างในปี 64 และ COD ในเดือน มี.ค.67 และม.ค.68
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บมจ.ปตท. (PTT) และหาพันธมิตรร่วมลงทุน โดยการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ยังพิจารณารายละเอียดเรื่องค่าความร้อนของก๊าซฯ เพราะจะมีการนำก๊าซฯจากภาคตะวันตก และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้ามาผสม ซึ่งต้องเจรจาให้ครอบคลุมเพราะค่าความร้อนดังกล่าวจะมีผลต่อการปรับจูนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีโอกาสการซื้อก๊าซฯจากผู้นำเข้ารายใหม่ หากเปิดให้มีรายใหม่นำเข้ามาได้ แต่ทั้งนี้ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกได้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ได้ทำสัญญากับกฟผ.แล้ว
ด้านนางวดีรัตน์ เจริญคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน ของ RATCH กล่าวว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับปีหน้าก็จะใช้เงินลงทุนในช่วง 2 ปีราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในมือและการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ (project finance) ทำให้การใช้เงินส่วนทุนมีไม่มากนัก อย่างโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 64 นั้น คาดว่าจะใช้เงินกู้โครงการราว 75% และเงินส่วนทุน 25% แต่ก็มีโอกาสที่จะได้เงินกู้มากถึงสัดส่วน 80% เพราะเป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายชัดเจนและสัญญาระยะยาว
ปัจจุบัน RATCH มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 9,222 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ COD แล้ว 6,937.58 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา 2,284.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62 ที่เหลือ 102.5 เมกะวัตต์ , ปี 63 จำนวน 400.73 เมกะวัตต์ , ปี 64 จำนวน 381.15 เมกะวัตต์ , ปี 67 จำนวน 700 เมกะวัตต์ และปี 68 จำนวน 700 เมกะวัตต์