นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บมจ.ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า บริษัทยืนยันว่าข้อตกลงยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จำนวน 17 คดีเกิดจาก 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องผลกระทบจากทางแข่งขัน และเรื่องการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา เป็นทางออกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ เรื่องการแข่งขันที่มีผลกระทบกับสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ปี 42 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 69 มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 61 เท่ากับ 78,908 ล้านบาท ขณะที่ข้อพิพาทการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาเรื่องนี้จะเกิดทุกๆ 5 ปี จนกระทั่งจบสัมปทานทั้ง 3 สัญญา มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 61 เท่ากับ 56,034 ล้านบาท
เมื่อรวมกับเรื่องอื่นๆ มูลค่าข้อพิพาทที่มีต่อ กทพ.ถึงสิ้นปี 61 จะเท่ากับ 137,517 ล้านบาท หาก กทพ.ต่อสู้ทุกคดีจนถึงที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะสัญญาสัมปทานยังไม่จบ จะต้องมีภาระมีเงินต้น-ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกมาก หรือประมาณ 326,127 ล้านบาท
ในการเจรจากับ กทพ.ได้นำข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วมาเจรจาเท่านั้น โดยมูลค่าข้อพิพาททั้งหมดระหว่าง กทพ.และ BEM ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน (ณ สิ้นปี 61) 78,908 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินต้นของมูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันจนจบสัมปทาน (ปี 69) ประมาณ 100,000 ล้านบาท
หากการเจรจาได้ข้อยุติก็จะถือว่าเรื่องอื่นๆ ที่ฟ้องร้องอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจนจบสัมปทานของบริษัทจะยุติทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เช่น คดีไม่ปรับค่าผ่านทางทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 46 และคดีชดเชยรายได้นับจากวันเปิดใช้งานพื้นที่ส่วนแรกของทางด่วนขั้นที่ 2
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า มูลค่าข้อพิพาทที่ยุติ 58,873 ล้านบาทนั้นบริษัทมองเรื่องผลตอบแทนและความเป็นไปได้ โดยในส่วน บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด(NECL) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้ปรับลดผลตอบแทนการลงทุนทางด่วนส่วน C ลงจาก 15.5% (ตามสัญญา) เหลือ 6.5% ทำให้ กทพ.จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B,C ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดออกไป สัญญาละ 30 ปีแทนการจ่ายเงิน
ส่วนบริษัทมีหน้าที่ให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนเดิมทั้ง 3 สายทาง และแก้ไขปัญหาจราจรโดยลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) จากงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ก่อสร้างช่อง Bypass แก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด ขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะไม่เก็บค่าผ่านทางการใช้ Double Deck เพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และบริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในรายได้จากปริมาณการใช้รถที่ต้องลดลงจากนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งทางรางของรัฐบาล โดยต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ.ตามสัญญา
แต่เนื่องจากการก่อสร้าง Double Deck ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบก่อน กทพ.จึงแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อยุติข้อพิพาท (ขยายสัญญาจนถึง ต.ค.78 หรือ 15 ปี) และส่วนที่ 2 การก่อสร้าง Double Deck (ขยายสัญญาออกไปจนครบ 30 ปี) ซึ่งลงนามสัญญาเมื่อรายงาน EIA ผ่าน โดยกำหนดให้ทำ EIA ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีจึงจะเซ็นสัญญา แต่หาก EIA ไม่ผ่านภายใน 2 ปี กทพ.มีสิทธิยกเลิกส่วนที่ 2 โดย BEM ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
นอกจากนี้ กทพ.ได้เจรจาให้บริษัทปรับค่าผ่านทางเป็นการปรับแบบคงที่เป็น 10 บาทในช่วง 10 ปี ได้แก่ รถ 4 ล้อ ทางด่วนขั้นที่ 1 และส่วน A,B เก็บที่ 50 บาทในปี 61 ปรับขึ้นเป็น 60 บาทในปี 71 และ 70 บาทในปี 81 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C เก็บ 15 บาท ปรับเป็น 25 บาท และ 35 บาท ในปี 71 และ 81 ตามลำดับ เป็นต้น
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า หากการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ไม่ผ่าน EIA บริษัทก็จะไม่ได้ขยายสัญญาสัมปทานอีก 15 ปี เพราะไม่ได้ก่อสร้าง ดังนั้น บริษัทยังมีความเสี่ยงข้อนี้ ทั้งนี้ เรื่องผลเจรจาอยู่ในขั้นตอนของ รมว.คมนาคมพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป บริษัทเชื่อว่า กทพ.และกระทรวงคมนาคมคงจะเร่งสรุปเรื่องนี้ เสนอ ครม.เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด และผ่านความเห็นชอบของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM เปิดเผยว่า ข้อพิพาทที่มีกับ กทพ.เป็นเรื่องเกิดมานานมากกว่า 25 ปี เกิดจากการที่ กทพ.ในอดีตทำผิดสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาได้พยายามเจรจากันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทุกเรื่องเราชนะที่อนุญาโตตุลาการแล้วแต่ กทพ.ก็ไม่ยอมรับจนเรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ดอกเบี้ยก็วิ่งไปทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดเพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาซึ่งทางบริษัทก็พร้อมร่วมมือเต็มที่ เราเชื่อว่าถ้าสู้คดีกันต่อ เราก็มีโอกาสชนะสูงมาก สุดท้ายเราชนะก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐก็เสียหาย ประชาชนเดือดร้อน แต่ถ้ายุติได้ รัฐไม่เสียหาย ประชาชนได้ประโยชน์ เราได้รับการเยียวยาพอสมควรได้ทำธุรกิจต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย
"ผลการเจรจาครั้งนี้ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และ กทพ. เป็นอย่างมาก ถือว่าไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากทางด่วนที่ดีขึ้น ค่าผ่านทางก็ไม่แพง ส่วนบริษัทก็ได้รับการชดเชยและได้ดำเนินธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าการขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.61 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทพ. ชดเชยรายได้ ช่วงปี 42-43 ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) บริษัทลูกของ BEM เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทางแข่งขันกรณีก่อสร้าง ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท ซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องจนจบสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดในปี 69 ส่งผลให้เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 ครม.มีมติให้ กทพ.เจรจายุติข้อพิพาทกับ BEM เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด จนเมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 กทพ.และ BEM ได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาท ปัจจุบันการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา