โบรกเกอร์ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) หลังมองผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังเติบโตดีต่อเนื่อง จากอัตราเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ยังเติบโตดี และมีแผนการเพิ่มมาร์จิ้นด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงให้มีความหลากหลาย รวมทั้งไตรมาส 3/62 มีโปรโมชั่นแสตมป์โดเรมอน ช่วยหนุนยอดขายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะได้ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯมาช่วยหนุนอีกด้วย
ล่าสุดสิ้นไตรมาส 2/62 CPALL มีสาขาทั้งสิ้น 11,528 สาขา และยังคงสามารถเดินหน้าขยายสาขาได้ปีละ 700 สาขา สำหรับแผนขยายงานไปยังประเทศกัมพูชาและลาว ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาต (Master Franchise Agreement)
นอกจากนี้ CPALL ยังมีแรงสนับสนุนจากการเพิ่มช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น การเป็น Banking Agent ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ให้การสนับสนุน รวมถึงการให้บริการส่งพัสดุ Speed-D ที่ขยายพื้นที่จัดส่งทั่วประเทศ หนุนให้มีผู้เข้ามาใช้บริการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมากขึ้น
ช่วงบ่ายหุ้น CPALL อยู่ที่ 84 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.59% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.41%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กรุงศรี ซื้อ 100.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 94.00 ทิสโก้ ซื้อ 92.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 92.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) เก็งกำไร 90.00 คันทรี่ กรุ๊ป ซื้อ 90.70 ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ซื้อ 92.50
น.ส.สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ CPALL ยังสามารถที่จะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จาก SSSG ที่ยังเติบโตดีใช้ได้ และมาร์จิ้นก็ดีขึ้นด้วย โดยไตรมาส 3/62 ก็มีโปรโมชั่นแสตมป์โดเรมอน ก็น่าจะช่วยหนุนยอดขายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ CPALL ยังน่าจะได้ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯมาช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้นอีก
ล่าสุดสิ้นไตรมาส 2/62 CPALL มีสาขาทั้งสิ้น 11,528 สาขา ซึ่งยังคงสามารถเดินหน้าขยายสาขาได้ปีละ 700 สาขา ส่วนการเป็น Banking Agent ก็สามารถไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นรายได้เสริมทางหนึ่งของ CPALL
พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2562 ไว้ที่ 22,600 ล้านบาท เติบโต 8% จากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 20,930 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ CPALL มีรายการพิเศษเกี่ยวกับผลประโยชน์พนักงาน 809 ล้านบาท ซึ่งมีการบันทึกในไตรมาส 2/62 หากไม่รวมรายการพิเศษนี้ก็จะมีกำไรปกติเติบโต 15% โดยคาดว่าจะมีกำไรปกติ 23,415 ล้านบาท
ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ผลประกอบการเบื้องต้นของ CPALL งวดไตรมาส 3/62 คาดจะเห็นการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และงวดปีก่อน โดยได้ปัจจัยหนุนจากมาร์จิ้นที่ยังคงระดับดีจากกลยุทธ์เพิ่มสินค้าขายที่มีมาร์จิ้น ขณะที่ SSSG จะทำได้ดีกว่าในไตรมาส 3/61 และค่าใช้จ่ายที่ลดลงเนื่องจากไม่มีรายการพิเศษจาก Employee benefit โดยมีแนวโน้มระยะยาวที่ดีจากการเพิ่มขึ้นของยอดลูกค้าต่อสาขา ที่มีแรงสนับสนุนจากการเพิ่มช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น การเป็น Banking Agent ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ให้การสนับสนุน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกสิกรไทย ,ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน รวมถึงการให้บริการส่งพัสดุ Speed -D ที่มีการขยายพื้นที่จัดส่งทั่วประเทศ
แนวโน้ม SSSG ในครึ่งปีหลังปีนี้ คาดทำได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครึ่งปีแรก ทีเติบโต 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากในช่วงไตรมาส 2/62 ยังทำได้ดีเพราะได้ประโยชน์จากฤดูร้อน ขณะที่ในไตรมาส 3/62 เข้าสู่ฤดูฝน แต่ได้แรงหนุนจากฐานต่ำในปีก่อนที่มี SSSG ไตรมาส 3/61 เพียง 1.8% และมีโปรโมชั่นแสตมป์ คาดยังเป็นบวกที่ดีราว 2-3% ได้ ขณะที่ในไตรมาส 4/62 มีปัจจัยเสี่ยงจากฐานสูง โดยคาดทั้งปีนี้ SSSG จะยังอยู่ที่ระดับ 3% โดยในช่วงครึ่งปีหลังมีแรงเสียดทานเรื่องการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังรอความหวังจากมาตรการภาครัฐเพื่อช่วยสนับสนุน
การเพิ่มสาขาใหม่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง CPALL คาดทั้งปีจะเปิดสาขาใหม่ได้ 700 กว่าสาขา และมีแผนการเพิ่มมาร์จิ้นด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าที่มีมาร์จิ้นดีให้มีความหลากหลาย เช่น สินค้าพร้อมทาน และสินค้ามีมาร์จิ้นดีจาก Personal care ที่ได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงการเปิด All Cafe ต่อเนื่องปัจจุบันอยู่ที่ 6.2 พันสาขา เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 ราว 300 สาขา สำหรับแผนขยายสาขาไปยังประเทศกัมพูชาและลาว ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาต (Master Franchise Agreement) โดยอยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน
ส่วนบล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างขยายธุรกิจไปในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการออกสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็น Ready-to-Eat มากขึ้น เครื่องดื่มออกใหม่ที่ใส่น้ำตาลน้อยลง คาดว่าจะทำให้มาร์จิ้นของทั้งผู้ประกอบการและ CPALL กลับมาดีขึ้น นอกจากนี้ Personal Care ที่จำหน่ายใน 7-11 ก็มียอดจำหน่ายที่ดีขึ้นในขณะที่มาร์จิ้นสินค้าประเภทนี้ก็สูงขึ้น ทางด้านการแข่งขันที่มาจากการสั่งซื้อออนไลน์หรือ Food Online ยังไม่เห็นผลกระทบต่อ CPALL โดยต้องจับตาใกล้ชิดกลุ่มสินค้า QSR หรือ Quick Service Restaurant ว่าถูกผลกระทบมากหรือไม่ เพราะมีทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนสินค้า Ready-to-Eat ของ CPALL คาดว่าจะถูกผลกระทบทีหลัง อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2/62 เป็นโอกาสที่ดีของ CPALL จากการที่มีวันหยุดมาก และอากาศร้อนกว่าปีก่อน ทำให้สินค้าเครื่องดื่มและสินค้า Personal Care (จำพวกครีมกันแดด และเครื่องสำอางขนาดเล็ก) ขายดี
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง และปี 63 การขยายตัวของสินค้า Ready-to-Eat คาดว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร่วมกันกับการขยายตัวของสาขา และการทำรายได้ต่อสาขาเพิ่มขึ้นช่วงเดือน ก.ค.-พ.ย.62 กระตุ้นยอดขายด้วยแสตมป์ ชุดโดเรมอน และการใช้ Application All Member ส่วนการดำเนินธุรกิจ Banking Agent ไปได้ดีน่าพอใจ มีธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนบาทต่อวัน จากช่วงเริ่มต้นที่เริ่มธุรกรรมเพียงวันละหลักหมื่นบาทต่อวันเท่านั้น ผู้เข้ามาใช้บริการ Banking Agent มีเปอร์เซ็นต์เข้ามาซื้อของด้วยราว 40% ส่วนธุรกรรม Speed-D ยังเดินหน้าได้ช้ามาก ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยกับการมารับของที่สาขาของ 7-11 แทนที่จะไปรับของที่บ้าน คาดว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมก็แข็งแรงมาก ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบทางลบต่อ CPALL ปกติจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่อาจเพิ่มอำนาจซื้อให้ผู้ใช้แรงงานจะเป็นบวกต่อ CPALL