(เพิ่มเติม) GPSC คาดกลุ่ม PTT ใช้เงินลงทุน 20 ล้านเหรียญ สร้างรง.แบตเตอรี่ต้นแบบ 10 MWH ในสหรัฐแล้วเสร็จ Q2/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 22, 2019 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เตรียมใช้เงินลงทุน 13-15 ล้านเหรียญสหรัฐในปีแรก และใช้เงินเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีที่สอง เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในสหรัฐ ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิค (Semi-Solid) ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3/62 และแล้วเสร็จในไตรมาส 2/63 ก่อนต่อยอดตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะตั้งโรงงานดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

ในวันนี้ (22 ส.ค.) GPSC ได้ร่วมลงนามกับ PTT ในสัญญาร่วมวิจัยโครงการ"วิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิค (Semi-Solid)" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะร่วมศึกษา และพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ และการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อที่จะเดินหน้าวิจัยและต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64

สำหรับเทคโนโลยี Semi-Solid เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology (24M) ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน 25% ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่า 50% อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง อันจะช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS)

นายชวลิต กล่าวว่า กลุ่มปตท. จะนำเสนอ 24M ถึงรูปแบบการตั้งโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ในสหรัฐ ด้วยวงเงินลงทุนที่ ปตท.พร้อมจะดำเนินการ 2 ปี 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ 24M เป็นผู้ออกแบบโรงงานที่เหมาะสม และการตั้งโรงงานในพื้นที่เจ้าของเทคโนโลยีและมีสภาพอากาศที่เหมาะสมก็จะทำให้สามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็ว โดยมั่นใจข้อเสนอของปตท.จะได้รับความสนใจจากผู้ถือหุ้นของ 24M ให้เข้ามาร่วมดำเนินการ เพราะว่ากลุ่ม ปตท.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ที่จะนำไปติดตั้งในโรงงานได้ทันที

สำหรับมูลค่าลงทุนของโรงงานต้นแบบดังกล่าวจะสูงกว่านี้ แต่หากผู้ถือหุ้นของ 24M ซึ่งมีทั้ง North Bridge Venture Partners , ITOCHU Corporation , Kyocera Group เป็นต้น ไม่สนใจเข้าร่วมดำเนินการ กลุ่มปตท.ก็มีแผนดำเนินการรองรับในเรื่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงจะหาพันธมิตรทั้งในส่วนผู้ค้าสากล ผู้ใช้งาน รวมถึงค่ายรถยนต์ เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย

"ที่เราใช้แนวทางนี้เพื่อเร่งให้กระบวนการนี้เกิดเร็วขึ้น ซึ่งกลุ่มปตท.มีจุดแข็งตรงไหน แนวคิดของเรา คือจะดีกว่าไหมถ้าจะร่วมกับพันธมิตรที่มีความชำนาญในการออกแบบโรงงาน มีความเชี่ยวชาญ และมีตลาดอยู่แล้วเพื่อให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์เร็ว...กลุ่มปตท.จะร่วมมือกัน ซึ่งเบื้องต้นเราคิดว่าความร่วมมือทำเป็นเวลา 2 ปี ในวงเงินปีแรกไม่เกิน 15 ล้านเหรียญ สองปีในวงเงินรวม 20 ล้านเหรียญ แต่เงินที่ใช้ในการประกอบและเดินเครื่องโรงงานต้นแบบจะใช้เงินมากกว่านี้ ส่วนที่เหลือเรากำลังเจรจาเพื่อให้ผู้ถือหุ้นของ 24M พิจารณาว่าจะร่วมมือในการแชร์เรื่องค่าใช้จ่ายอย่างไร เพราะทุกคนได้ประโยชน์"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี 24M ที่พิสูจน์สามารถการใช้งานได้แล้วคือสูตร LFPs ซึ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่รองรับการใช้งานสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งก็จะสามารถผลิตในโรงงานต้นแบบได้ทันที ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาสูตร NMCs ซึ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่รองรับการใช้งานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหากสำเร็จก็สามารถผลิตในโรงงานต้นแบบได้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ในตลาดอยู่ที่ 160-170 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) ขณะที่ราคาเหมาะสมควรจะอยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/KWh ทำให้ต้องมีการตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีของ 24M ดังกล่าวสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การตั้งโรงงานเชิงพาณิชย์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโซลูชั่นการให้บริการระบบกักเก็บพลังงาน ทางบริษัทไม่ได้รอโรงงานต้นแบบ24M แต่ได้ใช้ระบบแบตเตอรี่ของแบรนด์อื่น มาทดสอบการให้บริการสำหรับที่อยู่อาศัย โดยเบื้องต้นได้ติดตั้งแบตเตอรี่ ขนาด 10 KWh ในระบบกักเก็บพลังงาน สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 4 ชั่วโมง สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยประมาณ 4 คน ต้นทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ 2.5 แสนบาท

ขณะเดียวกันจะมีการนำไปใช้ในพื้นที่วิจัยต่าง ๆ เช่น ในเขตนวัตกรรมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi) ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะมีการนำติดตั้งทั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ มีการใช้บล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละอาคารและมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสภาวะอากาศที่เหมาะสมในการผลิตและเลือกใช้แหล่งผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม

"ปตท. ในฐานะผู้ประกอบกิจการด้านพลังงาน ที่มีสถาบันนวัตกรรม (PTT InI) เป็นแกนหลักในการวิจัยและพัฒนา ได้จัดตั้งโครงการ Electricity Value Chain เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจของ ปตท. ที่มุ่งสู่ธุรกิจใหม่ ขณะที่ GPSC ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมลงทุนในบริษัท 24 M Technologies ซึ่งได้รับสิทธิในการใช้ ผลิต และขายแบตเตอรี่ประเภท Semi-Solid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ 24M (License) ในไทยและภูมิภาค ASEAN ภายใต้นโยบาย S-Curves จึงได้เกิดความร่วมมือขึ้นดังกล่าว" นายชวลิต กล่าว

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ของ PTT เปิดเผยว่า ในระยะเวลาภายใน 15 วันหลังการลงนาม ทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Steering Committee) รวม 7 คน โดยมีประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เป็นประธาน ในส่วนของกรรมการรายอื่น จะมาจากผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 บริษัท เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลความก้าวหน้าและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

การดำเนินการในระยะแรก คณะกรรมการฯ จะทำการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการศึกษาในรายละเอียด ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid จัดทำแผนการก่อสร้าง แผนการควบคุมการผลิตและทดสอบ กำหนดตัวชี้วัด และเกณฑ์การพิจารณา เพื่อเป็นขั้นตอนพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีทั้งทางด้านเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งจัดทำงบประมาณในการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ

ในระยะถัดไป หากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงงานต้นแบบแล้ว จะมีการกำหนดแผนการผลิต และดำเนินการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบตามตัวชี้วัด และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมมีการส่งมอบแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ นำไปสู่การใช้จริง โดยผ่านการทดสอบจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ากลับมาพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ในการขยายการผลิตสู่ระดับเชิงพาณิชย์ร่วมกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ