นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Due Diligence) อยู่ทั้งหมด 5 ดีล มูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทไปจนถึง 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/62 หรือไตรมาส 4/62 โดยเงินทุนที่ใช้รองรับการเข้าซื้อกิจการส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน และหลังจากที่บริษัทเข้าซื้อกิจการแล้วคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 เท่า
"การเข้าซื้อกิจการก็จะช่วยเข้ามาเสริมศักยภาพของบริษัท แม้ว่าหลังจากการเข้าซื้อจะทำให้ D/E สูงขึ้นก็ตาม แต่เราก็ต้องพยายามผลักดันการเพิ่มรายได้ และการใช้กำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น แนวโน้ม D/E ในระยะต่อไปก็จะมีการลดลงตาม และบริษัทก็ทยอยชำระคืนหนี้ ทำให้มีหนี้สินน้อยลง ซึ่งตอนนี้เรามีหนี้สินรวมทั้งหมด 7 พันล้านบาท"นายศิลปรัตน์ กล่าว
ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังมั่นใจว่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ และในปีนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา คาดว่าจะช่วยหนุนการบริโภคเครื่องดื่มต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการออเดอร์การผลิตขวดเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และราคาแก๊ส ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตก็ลดลงตาม ส่งผลบวกต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทให้ปรับตัวลดลงด้วย
ประกอบกับ ปัจจุบันบริษัทมีการใช้กำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีอัตราการใช้กำลังผลิตสูงกว่า 90% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีอยู่ 90,000 ตัน/ปี จากโรงงานผลิตขวดแก้ว 5 โรง อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตขวดแก้วที่ราชบุรี กำลังการผลิต 400 ตัน/วัน ในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่สามารถผลักดันการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 90% โดยทำได้ 75% และคาดว่าจะผลักดันขึ้นมาที่ 86% ในไตรมาส 3/62
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าการใช้กำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการบริหารต้นทุนการผลิตที่ดีจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/62 กลับเพิ่มขึ้นมาที่ 16% หลังจากที่ลดลงไปในไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 15.1% และยังมั่นใจว่าจะทำให้ยอดขายในปีนี้เติบโต 8-10% ตามเป้าหมาย
สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศของบริษัทยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครึ่งปีแรกบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นยมาเป็น 9% และจะเพิ่มเป็น 10% ในสิ้นปีนี้ พร้อมวางเป้าหมายขยายสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% ภายในปี 66 โดยฐานลูกค้าหลักยังคงเป็นกลุ่มประเทศ CLMV และอินเดีย ที่มีความต้องการใช้ขวดแก้วสูง และเป็นกลุ่มลูกค้าที่สั่งผลิตขวดแก้วของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอินเดียทที่หากบริษัทมีกำลังการผลิตรองรับมากขึ้น ก็มีกลุ่มลูกค้าอินเดียที่ต่อคิวรอให้บริษัทผลิตขวดให้
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลักกว่า 90% ขณะที่ปัจจัยของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน มองว่าเป็นบวกต่อบริษัท เนื่องจากลูกค้าในสหรัฐฯที่เคยให้ผู้ผลิตขวดแก้วในจีนผลิตให้หันมาเจรจากับผู้ผลิตในประเทศอื่นแทน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผู้ผลิตขวดแก้วรายใหม่หากสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้รับการติดต่อกับผู้ประกอบการสหรัฐฯเข้ามาด้วยเช่นกัน