นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า ในวันนี้บมจ. ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้ลงนามในสัญญา 2 ฉบับร่วมกับบริษัท โกลเดน อีเกร็ต ซีเมนต์ คาร์ไบด์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ GESAC ในเครือบริษัท เซียะเหมิน โกลเดน อีเกร็ต สเปเชียล อัลลอย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในประเทศจีน ประกอบด้วย สัญญาซื้อขายที่ดินจำนวน 56 ไร่ และสัญญาเช่าโรงงานสำเร็จรูป พื้นที่ 4,700 ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 3 ปี ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 โดย GESAC จะใช้โรงงานสำเร็จรูปดังกล่าวเพื่อเริ่มกระบวนการผลิตในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน
"การลงนามในสัญญาพร้อมกันถึงสองฉบับในวันนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการนำเสนอโซลูชั่นที่ครบวงจรให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ...การเช่าโรงงานสำเร็จรูป (RBF) ในครั้งนี้จะช่วยให้ GESAC สามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ทันที ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป" นางสาวจรีพร กล่าว
ทั้งนี้ ทาง GESAC จะใช้งบในการลงทุนราว 2,500 ล้านบาท หรือราว 81.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยในระยะเวลา 3-4 ปี ข้างหน้า
GESAC ก่อตั้งขึ้นในปี 32 เป็นบริษัทในเครือบริษัท เซียะเหมิน ทังสเตน กรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสัญชาติจีน และเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผงทังสเตน ซีเมนต์คาร์ไบด์ และเครื่องมือสำหรับงานตัดประเภทต่างๆ นอกจากการครองตำแหน่งผู้จัดหาและผู้ส่งออกผงทังสเตนและทังสเตนคาร์ไบด์รายใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว GESAC ยังเป็นผู้ผลิตซีเมนต์คาร์ไบด์คุณภาพสูงและเครื่องมือตัดที่ได้มาตรฐานอุตสาหรรมอีกหลากหลายประเภท
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4/62 บริษัทเตรียมเซ็นสัญญาขายที่ดินจำนวน 1,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในประเทศของบริษัทในปีนี้ทำได้ตามเป้าหมาย 1,400 ไร่
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมเหงะอันในเวียดนามพื้นที่ 700 ไร่ ที่จะเริ่มเปิดให้บริการในไตรมาส 4/62 บริษัทยังมั่นใจว่าจะขายที่ดินได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 200 ไร่ จากปัจจุบันที่บริษัทเซ็นสัญญาขายที่ดินกับลูกค้าไว้แล้ว 83 ไร่ และจะพยายามเร่งปิดดีลการขายกับลูกค้ารายอื่นๆเพื่อให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุสาหกรรมในเวียดนามทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังบริษัทจะมีการโอนที่ดินอีก 600-700 ไร่ จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ 1.1 พันไร่ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนรายได้ โดยบริษัทมองว่าในช่วงไตรมาส 4/62 จะเป็นไตรมาสที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดของปีนี้ เพราะจะมีการโอนที่ดินเข้ามามาก และการขายสินทรัพย์มูลค่า 4.8 พันล้านบาทเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)
อีกทั้งบริษัทยังมีส่วนแบ่งกำไรจากการขายไฟของโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD อยู่ที่ 7.6-7.7 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่ม COD ในวันที่ 1 พ.ย. 62 ซึ่งเป็นการ COD ก่อนกำหนด ทำให้มีส่วนแบ่งกำไรเข้ามาเสริมผลการดำเนินงาน
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่บริษัทได้มีการร่วมทุนกับ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เพื่อพัฒนาที่ดิน 2,200 ไร่ ในอ.บ้านค่าย จ.ระยอง ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทถือหุ้น 60% และ IRPC ถือหุ้น 40% ล่าสุดโครงการดังกล่าวต้องเลื่อนการขายที่ดินออกไปเป็นปี 64 จากเดิมที่จะขายที่ดินภายในปี 63 เนื่องจากบริษัทได้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ หลังจากเปลี่ยนแผนการขายที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ไร่ จากเดิมที่จะขายที่ดิน 1,800 ไร่
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าผลักดันธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งคลังสินค้าให้เช่าและโรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้น หลังจากช่วงครึ่งปีแรกบริษัทได้มีลูกค้าเข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว 50,000 ตารางเมตร จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทยังมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในช่วงไตรมาส 3/62 จะมีลูกค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่เพิ่มอีก 100,000 ตาราเมตร และจะทยอยเช่าต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4/62 ส่วนราคาเช่าพื้นที่ของบริษัทได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วเมื่อต้นปีที่ 5% และได้ปรับราคาขายที่ดินเพิ่มขึ้น 10% ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาลง บริษัทยังมองว่าเป็นโอกาสในการลดต้นทุนทางการเงิน อาจจะเป็นการออกหุ้นกู้ที่มีอายุที่ยาวขึ้นกว่าปกติที่บริษัทจะออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี หรือ 7 ปี คาดว่าจะออกหุ้นกู้อายุ 10 ปี เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 3.2% ต่อปี ถือว่าไม่สูงมาก ซึ่งจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยของบริษัทลดลงจากปัจจุบันที่ 3.7% ต่อปี โดยที่บริษัทยังมีวงเงินหุ้นกู้ที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้อยู่อีก 7.5 พันล้านบาท และในปี 63 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ จะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่มีอายุที่ยาวขึ้นและมีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาทดแทน
นางสาวจรีพร กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 63 คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่สูงขึ้นจากปีนี้ โดยเฉพาะแนวโน้มของกำไร หลังจากที่รายได้จะเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะรายได้ประจำที่มาจากการเช่าพื้นที่คลังสินค้า พื้นที่โรงงาน และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและบริหารจัดการสาธณูปโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทที่จะมากขึ้น ซึ่งบริษัทมีที่ดินรอรับการขายอีกกว่า 10,000 ไร่ และในปีหน้าจะมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) ซึ่งจะมีกำไรเข้ามาเพิ่มจากการขายสินทรัพย์