นายเมธา รังสิยาวรานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.แฟนซีวู๊ดอินดัสตรีส (FANCY) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"หลังจากราคาหุ้น FANCY ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาจาก 0.47 บาทเมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 มาอยู่ที่ 0.72 บาท เมื่อวันที่ 23 ส.ค.62
นายเมธา ประกาศว่าไม่มีแผนขายธุรกิจ แต่จะเดินหน้าลุยธุรกิจหลักเพื่อหยุดผลขาดทุน หลังจากก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จากการเข้าซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค.62 จำนวน 35,748,400 หุ้น ในราคาหุ้นละ 0.59 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อจากนายวิชัย ตันพัฒนรัตน์ ที่ขายหุ้น FANCY ทั้งหมดที่ถืออยู่ 32,448,400 หุ้น ส่งผลให้นายเมธาถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 15-16% จากเดิม 9.75%
ก่อนหน้านี้โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ FANCY 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.บริษัท พี พี แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 145,000,000 หุ้น (23.58%)
2.นาย เมธา รังสิยาวรานนท์ 59,990,600 หุ้น (9.75%) 3.นาย ทวีทรัพย์ จิตต์โสภณ 50,284,700 หุ้น (8.18%) 4.นาย วิชัย ตันพัฒนรัตน์ 32,448,400 หุ้น (5.28%) 5.น.ส.กาญจนา อิทธิวิทยาธร 30,504,800 หุ้น (4.96%)
นายเมธา กล่าวว่า ไม่มีแนวคิดการขายธุรกิจการผลิต Particle Board ออกไป หรือจะขยายธุรกิจอื่น หรือการซื้อกิจการ หรือมีรายใดเข้ามาติดต่อขอใช้เป็นช่องทางเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องการมุ่งหน้าผลักดันธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อไป โดยมีความมั่นใจว่าจะทำธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ด้วยแผนผลักดันรายได้และควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมายหลักคือหยุดการขาดทุนให้ได้
"ไม่เข้าใจทำไมธุรกิจถึงขาดทุนต่อเนื่อง 3-4 ปีตลอดทุกไตรมาสที่ผ่านมา หลังจากเข้ามาบริหารงานแล้ว ก็เลยรู้สาเหตุ มันอยู่ที่การจัดการ ทุกขั้นตอนอยู่ที่การจัดการและการใส่ใจ ที่ผ่านมามีการใช้จ่ายค่อนข้างฟุ่มเฟื่อย ตอนนี้เราจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้เต็มที่ ให้มีประสิทธิภาพ
..อย่างเรื่องค่าแรงและเงินเดือน ไม่สอดคล้องกับรายได้ เช่น การวางระบบมันไม่ถูกที่ผ่านมา มีการจ้างแรงงานรายวันแต่ผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับค่าจ้าง ซึ่งที่จริงใน 1 วันต้องผลิตสินค้าให้ได้เท่าไร แต่เขาก็ทำงานชิล ๆ ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราก็เปลี่ยนระบบ โดยกำหนด 1 คนใน 1 วันจะต้องทำการผลิตสินค้าได้เท่าไร ซึ่งเราก็นำค่ามาตรฐานมาจากโรงงานอื่นมาใช้"นายเมธา กล่าว
ทั้งนี้ FANCY และบริษัทย่อย แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/62 ขาดทุนสุทธิ 20.11 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/62 ขาดทุนสุทธิ 28.75 ล้านบาท และงวดปี 61 ขาดทุนเท่ากับ 164.99 ล้านบาท
นายเมธา ยังได้กล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FANCY ว่า การลงทุนใน FANCY มีความท้าทาย เพราะขาดทุนติดต่อกันมาตลอดทั้งที่ประวัติค่อนข้างดี ซึ่งเท่าที่ดูปัจจัยหลักอยู่ที่ระดับการจัดการ เพราะธุรกิจไม่ได้มีปํญหา ดังนั้น ขณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการหยุดการขาดทุนก่อน ซึ่งเป็นเป้าหมายในปีนี้ โดยหากปีหน้าสามารถทำได้สำเร็จถือว่าเป็นรางวัล เบื้องต้นอยากจะ run ธุรกิจให้สำเร็จมากกว่าที่จะคาดหวังจากเงินปันผล
ในด้านการผลักดันรายได้ให้เติบโตนั้น รองประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ FANCY เปิดเผยว่า ในวันที่ 2-4 ก.ย.นี้ผู้บริหารของบริษัทโอกุระจากประเทศญี่ปุ่นจะเดินทางมาดูงานการผลิต Particle Board หลังจากได้พูดคุยกันมาราว 5-6 เดือนแล้ว โดยหากทางโอกุระพอใจ บริษัทฯก็จะสามารถส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่นได้ แต่ยังต้องขออนุญาตจากทางการญี่ปุ่นด้วย คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนกว่าจะนำสินค้าของบริษัทส่งเข้าไปขายในญี่ปุ่นได้ เบื้องต้นตามสัญญากำหนดออร์เดอร์ราว 1 ล้านแผ่นต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม บริษัทคงต้องดูความสามารถในการผลิต (Capacity) ที่มีอยู่ด้วยว่าจะผลิตได้ถึง 1 ล้านแผ่นต่อเดือนหรือไม่ หากทำไม่ได้ก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นในช่วงแรกอาจจะขอส่งมอบไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไปก่อน
"แม้ว่าตอนนี้บริษัทฯจะ run เครื่องผลิต Particle Board ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การผลิต 1 ล้านแผ่นใน 1 เดือนก็ค่อนข้างยาก เพราะเท่าที่ดูมันจะปริ่ม ๆ พอดี ดังนั้นช่วงแรกเราก็ขอส่ง 5 แสนแผ่นก่อนเพื่อที่จะได้ไม่ผิดสัญญา"นายเมธา กล่าว
นายเมธา กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของบริษัทฯในแต่ละปีประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งในปีหน้า (2563) ภายหลังจากที่ได้ลูกค้าโอกุระจากญี่ปุ่นมาแล้วก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้เกินเท่าตัว เพราะไม่ใช่แค่ส่วนของลูกค้าจากญี่ปุ่นเท่านั้นที่เข้ามา แต่บริษัทยังบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพด้วย
นายเมธา กล่าวอีกว่า ต้องหารถือลงทุนหุ้น FANCY ในระยะยาว ซึ่งหากมีโอกาสก็พร้อมจะซื้อหุ้นเข้ามาอีก และไม่มีแผนที่จะขายทิ้งหุ้นตัวนี้ และมองว่าราคายังต่ำเกินไป เพราะธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
"ตอนนี้ผมก็ถือหุ้น FANCY อยู่ 15-16% ซึ่งก็ถือหุ้นในราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 1 บาท/หุ้น และถ้ามีโอกาสที่จะทยอยเก็บหุ้น FANCY ต่อไปอีก แต่จะเก็บหุ้นโดยผ่านการซื้อต่อจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพราะการเข้าไปเก็บหุ้น FANCY ในกระดานมันย่อยเกินไป เสียเวลาเก็บ...ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ FANCY (บริษัท พี พี แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) เขาคงจะไม่ขาย แต่ผมเข้ามาบริหารเขาก็ยินดี"นายเมธา กล่าว