SCC มองโอกาสลงทุนรง.รีไซเคิล พร้อมวางเป้าลดผลิตพลาสติก Single use เหลือ 20% ในปี 68 สอดรับแนวคิดศก.หมุนเวียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 26, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมองโอกาสการลงทุนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แต่ต้องศึกษาเรื่องเทคโนโลยีให้มีความชัดเจนก่อน ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single use) จาก 46% เหลือ 20% ภายในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เป็น 100% ภายในปี 2568 เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่บริษัทได้เริ่มดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้

"ก็มีความเป็นไปได้เรื่องการตั้งโรงงานรีไซเคิล แต่การที่จะทำโรงงานลักษณะเช่นนี้ถ้าใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร แทนที่จะแก้ปัญหาก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหา เรื่องนี้ต้องดูในแง่ของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ แต่รายละเอียดยังขอเก็บไว้ก่อน"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จะช่วยสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดกระบวนการ

ที่ผ่านมาเอสซีจี ได้เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ด้วยการให้ความรู้และเปิดแพลตฟอร์มให้ทุกฝ่ายระดมความคิดนำเรื่องนี้ไปปรับใช้ได้อย่างไร และสุดท้ายคือการหาพันธมิตรทั้งกลุ่มลูกค้า และคู่ค้าให้เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งล่าสุดมีพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน 45 ราย ประกอบด้วยองค์กรความร่วมมือระดับโลก 5 ราย ภาครัฐ 3 ราย ภาคเอกชน 29 แห่ง โรงเรียนและชุมชน 8 แห่ง ที่ร่วมทำให้เกิดโมเดลการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและแก้ปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเอสซีจีได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Reduce และ Durability คือการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น , Upgrade และ Replace คือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ Reuse หรือ Recycle คือการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่

โดยในปีที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทน 3.13 แสนตันของเสีย/ปี และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 1.31 แสนตันของเสีย/ปี

สำหรับในวันนี้ เอสซีจีได้ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน"SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action" เพื่อนำไปสู่การระดมความคิดและร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและขยายแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ รวมไปถึงการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในปีที่ผ่านมาและนับจากนี้ไป ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของโลก (Sustainable Development Goals:SDGs)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ