ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 544,464 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 26, 2019 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (19 - 23 สิงหาคม 2562) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 544,464.06 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 108,892.81 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 17% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 66% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 360,865 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 148,002 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 21,244 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB326A (อายุ 12.9 ปี) LB28DA (อายุ 9.3 ปี) และ LB26DA (อายุ 7.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 19,982 ล้านบาท 16,980 ล้านบาท และ 15,099 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท.สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด รุ่น PTTEPT226A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 2,834 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น HMPRO212A (Non-Rated) มูลค่าการซื้อขาย 1,205 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH224A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 823 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-8 bps. ในทุกช่วงอายุตราสาร ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนขายทำกำไร ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 2/2562 ของไทยขยายตัวที่ระดับ 2.3% (YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 62 เริ่มเห็นแนวโน้มถูกผลกระทบจากหลายปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทั้งจากเศรษฐกิจโลกโลก มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนทางการเงิน รวมถึงปัจจัยในประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว พร้อมกันนี้ สศช. ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือเติบโต 2.7-3.2% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 3.3-3.8% ด้านการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในที่ประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮลไม่ได้ส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ โดยเฟดจะดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวต่อไป โดยยอมรับว่า การทำสงครามการค้า และปัจจัยอื่นๆ กำลังทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง

สัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ส.ค. - 23 ส.ค. 62) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 26,435 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิ ในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 2,045 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 24,302 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครอง โดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 88 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                               สัปดาห์นี้         สัปดาห์ก่อนหน้า      เปลี่ยนแปลง             สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                 (19 - 23 ส.ค. 62)   (13 - 16 ส.ค. 62)            (%)   (1 ม.ค. - 23 ส.ค. 62)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)         544,464.06          466,986.34         16.59%           14,438,583.83
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                           108,892.81          116,746.59         -6.73%               91,965.50
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                 118.85              119.68         -0.69%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                   105.75              105.98         -0.22%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้          1 เดือน     6 เดือน      1 ปี      3 ปี      5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (23 ส.ค. 62)          1.50       1.51     1.49     1.46     1.48     1.54     1.57     1.92
สัปดาห์ก่อนหน้า (16 ส.ค. 62)     1.49       1.48     1.47     1.41     1.40     1.48     1.52     1.90
เปลี่ยนแปลง (basis point)         1          3        2        5        8        6        5        2

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ