BA หั่นเป้ารายได้ตั๋วโดยสารปี 62 เป็นลดลงจากเดิมคาดเติบโต หลังราคาตั๋ว-ยอดผู้โดยสารลด พร้อมปรับแผนดิ้นหนีขาดทุนปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 27, 2019 08:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายในปี 62 โดยรายได้จากตั๋วโดยสาร คาดว่าจะลดลงไม่เกิน 5% จากเดิมเดิมที่คาดเติบโต 3.5% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จากตั๋วโดยสาร 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาตั๋วเฉลี่ยอ่อนตัวลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยที่ 3,355 บาท ลดลง 3% ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะสามารถตรึงราคาขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ประเมินว่าราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยลดลง 3-4% จากปีก่อน

รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารในปีนี้ปรับตัวลงจากภาพรวมท่องเที่ยวที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่เกิดความไม่มั่นใจหลังเกิดเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และผลกระทบจากสงครามการค้า จึงปรับลดประมาณการจำนวนผู้โดยสารปีนี้จาก 6.16 ล้านคน มาที่ 5.8 ล้านคน ลดลงจาก 5.9 ล้านคนในปีก่อน โดยครึ่งปีแรกมีจำนวนผู้โดยสารอยูที่ 3.02 ล้านคน ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor)ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 70%

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเส้นทางบินในประเทศมีการแข่งขันอย่างมาก ซึ่งยอมรับว่าการแข่งขันสูงกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับปีนี้ภาพรวมความต้องการเดินทางลดลง 4% ก็ยิ่งมีการแข่งขันราคาลงมาอีก อย่างไรก็ดีบริษัทมีเครือข่ายการบินในภูมิภาค CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม )ที่ยังมีจำนวนผู้โดยสารเติบโต และ Yield (รายได้ต่อหน่วย) ถัวเฉลี่ยได้ดี

ทั้งนี้ รายได้ตั๋วโดยสารหลักๆมาจากเส้นทางสมุย 49-50% เส้นทาง CLMV สัดส่วน 22-25% เส้นทางในประเทศ สัดส่วน 22-24% เส้นทางมัลดีฟส์และอินเดีย 3-5%

"Yield ของเรายังดูดี เราพยายามไปหา Blue Ocean หรือแดงจาง ๆ ไปจะทำให้มีแนวโน้มขยับขึ้น...ครึ่งปีหลังเราพยายามตรึงราคาขายเฉลี่ยหรือลดลง 3-4% จากปีก่อน เพราะเรามีเส้นทางภูมิภาค CLMV เป็นเส้นทางที่น่าสนใจ ทั้งจำนวนผู้โดยสาร ทั้ง yield ก็คิดว่ารายได้จะกระทบไม่เกิน 5%"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัท หลัก ๆ มาจากรายได้ตั๋วโดยสาร สัดส่วน 80% และอีก 10% เป็นรายได้จากบริษัทย่อย 3 ธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air Catering:BAC) บริษัท การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์ลโก้ จำกัด (BFS Cargo) ที่เหลือมาจากเงินปันผลที่บริษัทเข้าไปลงทุน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะพยายามไม่ให้เกิดขาดทุน หลังจากครึ่งปีแรก มีผลขาดทุน 189.58 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาพน่าจะออกเป็นบวก หรือบวกบาง ๆ ขณะเดียวกันก็ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย และควบคุมค่าใช้จ่าย อาทิ การบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ 70% แล้ว ซึ่งมองว่าราคาน้ำมันปีนี้ผันผวน ส่วนไตรมาส 2/62 บริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานถึง 200 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากปีนี้บริษัทขาดทุนก็จะเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี

รวมทั้งได้ทำการหยุดบินในเส้นทางสมัย-กวางโจว ที่บินประจำก่อน และลดทำการบินเส้นทางกรุงเทพ-เฉิงตู ลดเที่ยวบินเป็น 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกรุงเทพ-ชงฉิ่ง ลดจาก 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เหลือ 1 เที่ยวบิน/สัปดาห์

แผนเส้นทางบินในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มความถี่เส้นทางบินยอดนิยม อาทิ กรุงเทพ-ฟู้โกว๊ก (เวียดนาม) เพิ่มจาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และ กรุงเทพ-ดานังเพิ่มจาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในช่วงฤดูตารางบินฤดูหนาวหรือในไตรมาส 4/62

ส่วนสายการบินพันธมิตรของบริษัท ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 27 สายการบิน โดยเตอร์กิชแอร์ไลน์เป็นสายการบินล่าสุดที่ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วม (Code share) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของเตอร์กิชแอร์ไลน์ ในการเดินทางเชื่อมต่อจากกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) ผ่านเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ส ไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งในประเทศและประเทศในกลุ่ม CLMV โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนจะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 1-2 สายการบิน ทั้งนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการทำ Code share ประมาณ 25%

ในข่วงครึ่งปีหลัง บริษัทเน้นทำการตลาดและการขายเชิงรุกในตลาดดิจิทัล โดยเน้นกิจกรรมทางการขายและการตลาดผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency) และตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ (Global Sales Agents)ทั่วโลก ส่วนเอเย่นต์ในประเทศได้ตัดค่าคอมมิชชั่น หรือ ซีโร่คอมมิชชั่นเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งเป้าปีนี้มีสัดส่วนการขายผ่านออนไลน์ 5% ของรายได้รวม และจะเพิ่มเป็น 30% ในอนาคต ทั้งนี้บริษัทได้เปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) เมื่อสิ้นก.ค.ที่ผ่านมา

"ช่วงครึ่งปีหลังเราจะขายออนไลน์มากขึ้น เราจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ จากเดิมขายผ่านเอเย่นต์ เราเริ่มทำมาตั้งแต่ต้นปี 62 ตั้งใจจะมีสัดส่วน 5% ในปีนี้และน่าจะเพิ่มเป็น30% ถ้าขายออนไลน์ได้เราจะมีค่าใช้จ่ายลดลง"

นอกจากนี้ ยอดจองตั๋วล่วงหน้าในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ลดลง 4% จากปีก่อน ที่มีส่งผลต่อ Yield และราคาตั๋ว ซึ่งในปีนี้ จำนวนผู้โดยสารและ Yield เส้นทางกรุงเทพ-สมุยลดลง บริษัทจึงได้จัดโปรโมชั่นเส้นทาง กรุงเทพ-สมุย ไปกลับ ราคา 4,000 บาทจากปกติ 8,000 บาทได้ในงานเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก ที่จัดงานในวันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย. 62 และเดินทาง 29 ส.ค.-16 ธ.ค.62 เพื่อกระตุ้นการขายล่วงหน้า

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทชะลอแผนการปรับปรุงฝูงบิน ที่ก่อนหน้านี้เคยมีแผนอยู่ ที่จะนำเครื่องบินแอร์บัส เอ220 หรือเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max7/Max8 มาทดแทน เครื่องบินแอร์บัส เอ319 และแอร์บัส เอ320 รวม 25 ลำ แต่เห็นว่าจากสถานการณ์ตลาดเป็นเช่นนี้ บริษัทไม่ต้องเร่งดำเนินการดีกว่าเพราะจะเป็นต้นทุนการดำเนินการเข้ามา อาจจะต้องดูจังหวะที่เหมาะสม และเส้นทางบินของบริษัทยังบินไม่ได้ไกลเกิน 2 ชั่วโมง หากปรับปรุงฝูงบินก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่เที่ยวบินที่ทำการบินใช้เวลาบิน 50นาที หรือ 1 ชั่วโมง จากก่อนหน้าที่บริษัทมีแผนจะทำการบินเข้าไปจีนและอินเดียที่ทำการบินเกิน 2 ชั่วโมง แต่บริษัทยังไม่ได้ขยายเส้นทางบินดังกล่าว รวมทั้งระหว่างนี้ขอพิจารณาข้อเสนอของทั้งโบอิ้งและแอร์บัสเพื่อให้ได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ บางกอกแอร์เวย์ส มีฝูงบิน 40 ลำ อายุเฉลี่ย 9.7 ปี การใช้เครื่องบิน (Utilization) 8.6 ชั่วโมง/วัน ซึ่งจากเครือข่ายการบินที่มีอยู่ยังใช้เครื่องบินไม่ได้ประโยชน์สูงสุด และในปีนี้จะปลดระวางเครื่องบินอาร์ที อาร์ท 72-500 จำนวน 2 ลำ เพื่อลดแบบเครื่องบินลง จะทำให้สิ้นปีนี้ฝูงบินเหลือ 38 ลำ และปีหน้ายังไม่มีแผนรับมอบเครื่องบิน

ส่วนการลงทุนโรงซ่อมอากาศยานที่สุโขทัย มูลค่าลงทุนราว 1 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ขั้นตอนจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) คาดว่าปีหน้าจะเริ่มลงทุนได้ ส่วนโครงการสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน โดยจัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัทบางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ จำกัด โดยจะลงทุนเฟสแรกที่ 200-300 ล้านบาท ที่จะผลิตนักบิน จำนวน 10-20 คน คาดจะเปิดรับสมัครได้ในต้นปี 63

นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะไม่สามารถประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค แต่ก็เห็นโอกาสจะเข้าร่วมประมูล หรือเข้าดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรี หรือประมูล เคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ