รมว.พลังงาน ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาค่ารื้อถอนแท่นผลิตแหล่งเอราวัณ-บงกชหลังเชฟรอน-โททาลขู่ฟ้องอนุญาโตฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 28, 2019 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยความคืบหน้ากรณีบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานหลักผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบริษัท โททาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในแหล่งบงกช ในอ่าวไทย ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานระบุว่าจะฟ้องอนุญาโตตุลาการกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกสั่งให้จ่ายค่ารื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมดหลังสิ้นอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้จบโดยเร็ว และเพื่อให้การเดินหน้าผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชเกิดความต่อเนื่องหลังจากหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565 และ 2566

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวเดินหน้าไปได้มากแล้ว และมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งหากมีความชัดเจนกระทรวงพลังงานจะเปิดเผยให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ดีที่สุดและประโยชน์จะต้องตกถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ

อนึ่ง ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีหนังสือส่งไปยังเชฟรอนให้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนการรื้อถอน รวมถึงประมาณค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่น และการวางเงินเป็นค่าหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น คิดเป็นค่าหลักประกันราว 75,000 ล้านบาท ส่วนของแหล่งบงกชจะมีอยู่กว่า 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าหลักประกันราว 30,000 ล้านบาท

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัญหาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกชเป็นเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งกระทรวงพลังงานต้องการความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่ตอนนี้จะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าวเกิดความต่อเนื่อง และราบรื่นในช่วงการเปลี่ยนผ่านหลังหมดสัญญาสัมปทานให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป

แต่เอกชนทั้ง 2 รายเห็นว่า ข้อกฎหมายที่กำหนดให้ต้องจ่ายค่ารื้อถอนและหลักประกันในการรื้อถอนทั้งหมดนั้น มีมูลค่าสูงถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย อีกทั้ง เชฟรอน ระบุว่า จำนวนแท่นผลิตที่ต้องส่งมอบคืนให้กับรัฐนั้น ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ต่อให้กับบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ที่ชนะประมูลแหล่งเอราวัณ โดยไม่ต้องรับภาระการรื้อถอนแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย เห็นว่า ไม่ยุติธรรม เพราะในสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 เป็นข้อตกลงและพันธะระหว่างกัน ระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องให้กับรัฐบาลไทย โดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่รัฐมนตรีสั่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ