นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เปิดเผยว่า พร้อมนำหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุน DIF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 2 กันยายนนี้ ซึ่งมั่นใจว่านักลงทุนจะให้การตอบรับที่ดี หลังปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ตามเป้าหมาย
การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 และเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งนี้ จะทำให้กองทุนฯ มีขนาดทรัพย์สินใหญ่ขึ้นและกระจายตัวในพื้นที่ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบอินเทอร์เน็ตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคต โดยทรัพย์สินใหม่ที่เข้าลงทุนครั้งนี้ ได้แก่ 1. กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 788 เสา ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
2. กรรมสิทธิ์ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (หรือประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) และ 3. กรรมสิทธิ์ FOC รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (หรือประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (หรือประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
ทั้งนี้ กองทุน DIF เป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยกองทุนฯ มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) ที่โดดเด่น สามารถจ่ายเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ รวมต่อปีในอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ส่วนในปี 2562 ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลแล้ว 2 ครั้ง จากผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 (1 มกราคม – 31 มีนาคม) ในอัตรา 0.26 บาทต่อหน่วย และจ่ายจากผลการดำเนินงานงวด 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตรา 0.3469 บาทต่อหน่วย รวมเป็น 0.6069 บาทต่อหน่วย
หลังจากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะส่งผลให้ประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนในปีแรกอยู่ที่ 1.0456 บาทต่อหน่วย (สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563) นอกจากนี้ผู้ถือหน่วยลงทุน DIF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุน DIF อีกด้วย
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการผู้แทนจำหน่ายหน่วยลงทุน กล่าวว่า การเสนอขายในครั้งนี้มีผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมมาใช้สิทธิ พร้อมมีความต้องการจองซื้อสูงสุดครั้งหนึ่งเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยมาใช้สิทธิมากกว่า 80% และจองซื้อเกินสิทธิกันอย่างล้นหลาม โดยมีความต้องการจองซื้อรวมกว่า 1.7 เท่าของมูลค่าเสนอขายที่ 15,800 ล้านบาท ย้ำถึงความเป็นผู้นำของกองทุน DIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
หลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้จะทำให้กองทุนมีโครงข่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น มีขนาดทรัพย์สิน มูลค่าตลาด และสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ความน่าสนใจของกองทุน DIF คือโอกาสสำหรับนักลงทุนในการรับผลตอบแทนในระยะยาว จากทรัพย์สินของกองทุนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย กระแสรายได้ที่มั่นคงจากสัญญาเช่าระยะยาว รวมถึงฐานะทางการเงินของกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังเข้าลงทุน