นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า จำนวนบัตรเครดิตใหม่ในปีนี้คาดว่าจะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 290,000 ใบ มาอยู่ที่ 300,000 ใบ หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนบัตรใหม่แล้ว 150,000 ใบ โดยปีนี้บริษัทออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บัตรเครดิตยูเนี่ยนเพย์ และล่าสุดได้ออกบัตรเครดิตร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี ซึ่งทำให้มีทางเลือกของบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์ลูกค้าเพิ่มเข้ามามากขึ้น โดยที่ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งหมดอยู่ที่ 2.4 ล้านใบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีจำนวนฐานบัตเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีการชะลอตัวลงบ้าง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวตาม ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 62 มีโอกาสที่จะเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ที่ 15% มาอยู่ที่ 10% โดยที่หมวดการใช้จ่ายหลักของลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตของธนาคารยังอยู่ใน 5 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดน้ำมัน หมวดท่องเที่ยว หมวดประกัน หมวดซุปเปอร์มาเก็ต และหมวดสินค้าแฟชั่น โดยที่บริษัทคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะมีแคมเปญการตลาดที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งมีการใช้จ่ายเติบโตสูงถึง 35% หรือมีมูลค่าการใช้จ่ายราว 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันจำนวนรายการในกลุ่มการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโต 40% แตะ 1.4 ล้านรายการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนไทยเริ่มหันมาใช้บริการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดว่าสัดส่วนของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต KTC จะเพิ่มเป็น 17-18% จากครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15% จากปีก่อนที่ 13%
นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าผลักดันการพัฒนาโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้ร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ดนำระบบการชำระเงินอีคอมเมิร์ซแบบเข้ารหัสในระบบดิจิทัล หรือ MDES มาใช้บริการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบบดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของสมาชิกเมื่อต้องใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของระบบบัตรเครดิตไทยอย่างยิ่ง
ปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำระดับโลกและบริษัทผู้นำด้านธุรกิจความบันเทิงดิจิทัลได้นำเทคโนโลยี MDES for Merchants มาใช้สำหรับการชำระเงินที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ (Recurring Transaction) การชำระเงินจากการเป็นสมาชิก (Subscription) และการชำระเงินบนมือถือผ่านแอพพลิชันของร้านค้า (Mobile-based Transaction) ทำให้ร้านค้าสามารถใช้รหัสดิจิทัลโทเคนแทนข้อมูลบัตรของลูกค้า ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากรหัสโทเคนนี้ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมกับร้านค้าอื่นได้ นอกจากนี้ รหัสดิจิทัลโทเคนยังมีการป้องกันทับอีกชั้นด้วยการใช้รหัสคริปโตแกรม (Cryptogram) ที่เป็นเลขเฉพาะต่อการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ช่วยป้องกันผู้บริโภคและร้านค้าอีกหนึ่งระดับ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการโดนโจรกรรมข้อมูล มอบความสบายใจแก่ผู้บริโภคและร้านค้า
ขณะที่ด้านการควบคุมหนี้เสียของบริษัทยังคาดว่าจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ 1.13% และอัตราการการผิดนัดชำระหนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับที่ 1.5%