(เพิ่มเติม) ตลท.เซ็น MOU กฟผ.ศึกษาแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายไฟฟ้าขายส่งผลักดันไทยสู่ Hub พลังงานไฟฟ้าอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2019 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาการพัฒนาสินค้าหรือแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market) ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีกลไกเพื่อการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งต่อผู้ผลิตและผู้ใช้

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมในการร่วมกับกฟผ. ในการพัฒนาแพลตฟอร์มซึ่งเป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบขายส่ง โดยมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจและการพัฒนาช่องทางการซื้อขายในรูปแบบอื่นๆให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาในการศึกษาราว 1 ปี ในการดูรูปแบบต่างๆ และความเป็นไปได้ในการศึกษา ก่อนที่จะมีข้อสรุปออกมา ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น ยังไม่ได้มีการศึกษาพัมนาแพลตฟอร์มขึ้นมา และหลังจากนี้จะเริ่มเดินหน้าการศึกษาร่วมกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของตลาดหลักทรัพย์ฯในการเป็นผู้เชี่ยวชาญการซื้อขายของตลาดทุน และ กฟผ.ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการซื้อขายไฟฟ้า" นายศรพล กล่าว

นางภาวนา อังคณานุวัฒน์ รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการทำตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่งรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขาย ได้แก่ แบบ Capacity Market ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายกำลังผลิตล่วงหน้าระยะ 3-5 ปี และแบบ Energy Market ซึ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้ารายวัน เพื่อรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค (Center of Regional Electricity Trading) อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดเสรี เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market Trading Platform) โมเดลอุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้า กลไกการซื้อขายไฟฟ้า และการพัฒนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าและระหว่างวันในระดับขายส่ง ความร่วมมือของทั้งสององค์กรถือเป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าโดยใช้กลไกของระบบตลาดเป็นตัวผลักดัน ทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้า และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ความร่วมมือระหว่าง ตลท.และ กฟผ.จะมีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.62-3 ก.ย.63 โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในการศึกษาและพัฒนาโมเดลอุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้าสำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่ง การสนับสนุนข้อมูล พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาดังกล่าว เป็นต้น

"เดิมการซื้อขายไฟฟ้าลักษณะ G2G ระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่รูปแบบใหม่ที่เตรียมศึกษาจะทำให้ง่ายและสะดวกต่อการซิ้อขายมากขึ้น เพราะผ่านตลาดกลาง เหมือนที่มีในยุโรป ทุกประเทศสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระดับ Wholesale ได้ในตลาดกลางเลย ส่วนรูปแบบหรือแพลตฟอร์มต้องใช้เวลาศึกษาราว 1 ปี ซึ่งของเราน่าจะเป็นมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ และก็ดูที่ประเทศออสเตรเลียเขาก็ขยายการซื้อขายไฟฟ้าไปสู่ B2C แล้ว ซึ่งเราก็มองโอกาสการขยายไปในระดับนั้นเหมือนกัน" นางภาวนา กล่าว

สำหรับโครงการดังกล่าวสอดรับกับแผน PDP 2562 ที่ได้ปรับการพัฒนาไฟฟ้าไปสู่การส่งและเชื่อมต่อข้อมูลพลังงานให้ทันสมัย (Smart grid) ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะที่จะทำให้การเชื่อมโยงไฟฟ้ากว้างและหลากหลายมากขึ้น และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายพลังงานในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยมีกำลังสำรองไฟฟ้าเหลือ 35% ส่วน สปป.ลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไทยซื้อไฟฟ้ามาใช้จะยิ่งมีปริมาณสำรองไฟฟ้ามากเกินไป ดังนั้นนโยบายจัดทำเชื่อมโยงระบบกริดเพื่อซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศนำไฟฟ้าส่วนเหลือของ สปป.ลาวส่งผ่านไทย เพื่อไปขายเมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประโยชน์ให้กับประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ