ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) หลังจากราคาน้ำมันทะยานขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรก และความกังวลที่ว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐให้ย่ำแย่ลงไปอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 10.99 จุด หรือ 0.09% แตะระดับ 12,337.22 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 1.21 จุด หรือ 0.09% แตะระดับ 1,348.78 จุด และ ดัชนี Nasdaq ปิดรูดลง 15.60 จุด หรือ 0.67% แตะระดับ 2,306.20 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 1.43 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 17 ต่อ 13 หุ้น ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ประมาณ 2.01 พันล้านหุ้น
นายริชาร์ด สปาร์คส์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเชฟเฟอร์ อินเวสท์เมนท์ รีเสิร์ช ในเมืองซินซินเนติ กล่าวว่า "ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอยู่แล้วนั้น ให้ย่ำแย่ลงไปอีก ที่ผ่านมาตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะผันผวนในตลาดการเงินและตลาดที่อยู่อาศัย"
"นักลงทุนกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลังเลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก ในการประชุมครั้งหน้าซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 18 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ นักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญกับภาวะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) " นายสปาร์คสกล่าว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบมาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการทำโพสิชั่นก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค. และกระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค.
ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สำนักงานคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด จะเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนม.ค. และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียจะเปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนก.พ.
ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 100.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.เป็นต้นมา นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในธุรกิจการเงิน ซึ่งจนถึงขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกได้ตั้งสำรองหนี้สูญไปแล้วกว่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์ อันเป็นผลมาจากการลงทุนในตลาดซับไพรม์ โดยล่าสุดธนาคารบาร์เคลย์สเปิดเผยตัวเลขขาดทุน 3.13 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เครดิตสวิสได้ปรับลดมูลค่าตราสารหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) ลง 2.85 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หุ้นแอมแบคร่วงลง 19 เซนต์ ปิดที่ 10.03 ดอลลาร์ หลังจากโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นแอมแบคลงสู่ระดับ 7 ดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 10 ดอลลาร์ โดยกล่าวว่าแอมแบคจำเป็นต้องระดมทุนให้ได้ถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อคงอันดับเครดิตที่ AAA เอาไว้ให้ได้ นอกจากนี้ ข่าวในด้านลบของแอมแบคได้ฉุดหุ้นเอ็มบีไอเอดิ่งลง 41 เซนต์ ปิดที่ 11.83 ดอลลาร์
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--