นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ก.ย.) เอสซีจี และบริษัท ดาว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับโลก ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การร่วมจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติกในประเทศไทย
ทั้งนี้ การศึกษาจะเป็นไปใน 2 รูปแบบ ได้แก่ เทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) ซึ่งจะเป็นการนำขยะพลาสติกเก่ากลับมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งโรงงานรีไซเคิลในประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินการในลักษณะนี้ ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลด้วยกระบวนการทางเคมี (Chemical Recycling) ซึ่งเป็นการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) ซึ่งจะใช้หมุนเวียนมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ (Renewable Feedstock) โดยกระบวนการนี้จะทำให้สามารถได้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสารตั้งต้นอื่น ๆ ที่ใช้ในปัจจุบันสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติก
ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย
"สิ่งที่เราคุยกันนี้จำเป็นต้องมีการลอง หลังจากลองแล้วก็จะต้องพยายามดูว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม สำคัญที่สุดในเรื่อง handel west หรือ west management เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ west มาอย่างไร และมีการคัดแยกอย่างไร เพื่อให้ process ในการทำมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด คิดว่า MOU วันนี้แสดงให้เห็นถึง commitment ของ 2 องค์กร ในการที่จะรีบศึกษาและรีบที่จะดูว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะถือเป็น option ของเราที่จะ contribute ในเรื่องของ Circular Economy เรื่องของ west management การศึกษาก็คาดว่าจะใช้เวลาเป็นหลักเดือน น่าจะได้ผลการศึกษาอย่างเร็วและน่าจะได้เริ่มต้น"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งโรงงานนั้น ก้จะต้องศึกษาเรื่องของวัตถุดิบ ซึ่งจะต้องพิจารณาในพื้นที่เป็นหลักว่ามีขยะพลาสติกประเภทใดบ้าง และเทคโนโลยีของดาวเหมาะกับการนำพลาสติกประเภทใดที่จะเอาเข้าสู่ระบบ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ยังต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐใน 4 เรื่องเพื่อจะผลักดันให้โครการดำเนินการต่อไปได้ ประกอบด้วย การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานขยะพลาสติก เพราะปัจจุบันระบบสาธารณูปโภคของไทยไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่การคัดแยก การจัดเก็บ แม้เอกชนจะสามารถดำเนินการเองได้ส่วนหนึ่งแต่ก็ยังไม่เพียงพอยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย , การบังคับใช้และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
การให้สิ่งจูงใจให้ภาคเอกชนเพื่อให้ออกแบบสินค้าที่จะสามารถรีไซเคิลได้ง่าย มีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะ และรัฐบาลควรให้ความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวด้วย
ด้านนายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างดาว และเอสซีจี ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันขยะพลาสติกในทะเลทั่วโลกมีประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ตามสถิติในไทยมีขยะถูกทิ้งในทะเลประมาณ 1 ล้านตัน/ปี การที่จะดำเนินโครงการที่จะสามารถนำขยะเหล่านี้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าได้อย่างน้อย 2-3 แสนตัน/ปีจะเป็นขนาดโรงงานที่มีความคุ้มทุน แต่ในช่วงเริ่มต้นคงจะเริ่มที่ 2 หมื่นตัน/ปีก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายไปถึงระดับที่คุ้มทุน โดยการดำเนินการควรจะต้องเป็นขยะพลาสติกในประเทศเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนำเข้าขยะพลาสติก
ทั้งนี้ แผนการดำเนินการทางกลุ่มดาว มองที่ Chemical Recycling เพราะมีเทคโนโลยีในส่วนนี้ อีกทั้งในส่วนของกลุ่มดาว และเอสซีจี ก็เป็นผู้ประกอบการพลาสติกที่มีกำลังการผลิตจำนวนมาก ซึ่งหากสามารถนำมาหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ก็จะสามารถใช้สำหรับทุกประเภทได้เลย
อนึ่ง ดาว ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของโลก เพิ่งประกาศการตั้งโรงงานรีไซเคิลแห่งแรก โดยประกาศการจัดทำข้อตกลงให้ ฟือนิกซ์ อีโคจี กรุ๊ป (Fuenix Ecogy Group) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเวียร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบประเภทน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Feedstock) ที่ได้จากขยะพลาสติกรีไซเคิลให้กับโรงงานผลิตของดาวในเมืองแทร์นอยเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ใหม่ ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบใหม่ (Feedstock Recycling) มากขึ้น โดยนำเอาขยะพลาสติกหลากประเภทมาผ่านกระบวนการเพื่อให้กลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Polymers) โดยผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil) จะเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบดั้งเดิมทุกประการ จึงสามารถนำไปใช้งานแบบเดียวกันได้ รวมถึงนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารได้อย่างปลอดภัย