บลจ.ยูโอบี มองศก.ไทยแข็งแกร่งหนุนตลาดหุ้นเติบโต แนะจับจังหวะลงทุน LTF ช่วงผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 9, 2019 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บลจ. ยูโอบีฯ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงมีพื้นฐานที่ดีจากความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ 28 มิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 215.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนและตลาดหุ้นไทยที่จะสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับสภาวะของตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวน ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยลบต่าง ๆ ได้แก่ ปัจจัยสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เติบโตชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงิน จึงถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้าลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีกองทุน LTF อยู่ในพอร์ตเพื่อสิทธิในการประหยัดภาษี อีกทั้งโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จากการลงทุนใน CG-LTF และ UOBLTF สองกองทุน LTF แนะนำจากบลจ. ยูโอบี

สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุน LTF บลจ. ยูโอบี แนะนำ 2 กองทุนที่มีประวัติผลการดำเนินงานโดดเด่นเมื่อเทียบกับภาพรวมกองทุน LTF ในตลาด โดยทั้ง 2 กองทุนจัดตั้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 บริหารงานโดยทีมจัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Active เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี โอกาสเติบโต และการลงทุนในหุ้นที่มีธรรมภิบาลเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และมีความเสี่ยงระดับกลางค่อนข้างสูง (ระดับ 6) รวมถึงเป็นกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับ 4 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ นอกจากนี้ยังได้ความร่วมมือจากเครือข่าย UOB Group ในต่างประเทศ และพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย เพื่อประเมินภาพรวมและวิเคราะห์วางแผนจัดการการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

"ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงแรงจากปัจจัยลบที่อยู่เหนือการควบคุม มองว่าเป็นจังหวะดีที่จะเข้าลงทุนในกองทุน LTF โดยเราได้คัดสรรกอง CG-LTF และ UOBLTF ซึ่งเป็นกองทุนคู่หูที่มีสไตล์การลงทุนที่แตกต่าง แต่สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีในระยะยาวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน พร้อมด้วยทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญบริหารกองทุนเพื่อสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว" นางสาวรัชดา กล่าว

กองทุน ‘CG-LTF’ หรือ ‘กองทุนเปิดบรรษัทภิบาลหุ้นระยะยาว’ ที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี มีปัจจัยพื้นฐานโดดเด่นและโอกาสเติบโตสูง ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มีผลการดำเนินงานย้อนหลังระยะยาวที่โดดเด่น โดยให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี (ณ 31 กรกฎาคม 2562) 15.19% ต่อปี สูงกว่า SET TRI ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.60% ต่อปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เข้าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มธนาคาร กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกลุ่มขนส่ง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม อยู่ที่ 12,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 12,334 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้นธรรมภิบาลที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

กองทุน ‘UOBLTF’ หรือ ‘กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว’ ที่มีจุดเด่นของกองทุนคือจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีฐานะการลงทุนสุทธิในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองรวม เงินทุนส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในตราสารทางการเงิน และ/หรือตราสารแห่งหนี้ต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ทั้งนี้อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน และลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบัน UOBAM มีทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในแบบไม่รับเงินปันผล (UOBLTF) และแบบรับเงินปันผล (UOBLTF-D) ซึ่งผลการดำเนินของกองทุนฯย้อนหลัง 10 ปี (ณ 31 กรกฎาคม 2562) อยู่ที่ 13.98% ต่อปี และ SET TRI อยู่ที่ 14.29% โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เข้าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มธนาคาร กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มขนส่ง และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 5,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.35% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 4,824 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ