บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) ของบริษัทตังแต่วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา
บริษัทเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 4/62 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,818 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 16% ของหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร ACE กล่าวว่า วัตถุประสงค์การระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 20 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 210.19 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid, โครงการโรงไฟฟ้า MSW และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (VSPP) ซึ่งจะส่งผลทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 421.37 เมกะวัตต์ ใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,000 เมกะวัตต์ในปี 67
ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 211.18 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟภ. และกฟผ. รวมทั้งสิ้น 166.50 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ IU รวมทั้งสิ้น 6.81 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (VSPP-Biomass) จำนวน 9 โครงการ ซึ่งนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งรวม 89.10 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ., โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (SPP-Cogeneration) จำนวน 1 โครงการ ซึ่งใช้เทคโนโลยีโคเจนเนอเรชั่น ชนิดกังหันก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้ง 114.35 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้แก่ กฟผ.
โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน (VSPP-MSW) จำนวน 1 โครงการ ซึ่งรวบรวมขยะชุมชนจากทเศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงพื้นที่โรงไฟฟ้า มากำจัดโดยการนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า กำลฃังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจำหน่ายให้แก่ กฟภ. จำนวน 4.5 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้เองภายในโรงไฟฟ้า และจำหน่ายให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมฯ
รวมทั้งมีและโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งบนหลังคา จำนวน 2 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.73 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าเอกชนที่ทำสัญญาในระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน หรือไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยสิ้นปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 1,450 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.8% ซึ่งหากนำเงินไปชำระคืนหุ้นกู้ดังกล่าวจะส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้น หรือคาดว่าจะมีต้นทุนต่ำกว่า 4% และส่งผลดีต่อการทำเครดิตเรทติ้งด้วย ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทต่อไป
นางสาวจิรฐา กล่าวว่า สำหรับจุดเด่นของบริษัทฯ คือ เป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยปัจจุบัน ACE ถือเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าชีวมวลส่งขายให้ กฟภ.รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีความสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชนและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพสูง
ด้านนายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวว่า ผลประกอบการของ ACE มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยภาพรวมผลการดำเนินงานปี 59–61 มีรายได้รวม 2,161 ล้านบาท, 4,346 ล้านบาท และ 4,849 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 50% และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท 334 ล้านบาท และ 547 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 102%
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 2,555 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท รวมถึงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (IBD/Equity) 1.2 เท่า
ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อเป็นอย่างดี มีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยผิดนัดชำระมาก่อน ทำให้ได้รับการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินลดลง ซึ่งจะมีผลเป็นบวกกับผลประกอบการของบริษัทต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินของโครงการที่ได้ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้ เล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มบริษัทฯ และความสามารถในการทำกำไรและประวัติการติดต่อที่ดีกับธนาคารมาก่อนจะยังให้การสนับสนุนต่อไปจนครบทุกโครงการตามเป้าหมายที่กลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนไวh
นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ACE เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย จะเป็นทางเลือกที่ดีแก่ผู้ลงทุนท่ามกลางสถานะทางเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงจากการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำให้หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีผลตอบแทนที่มั่นคง จะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน
ACE มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความมั่นคงสูง บริษัทอยู่ในช่วงการขยายการผลิต โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึงระดับ 1,000 MW ในปี 67 พร้อมกันนี้พลังงานสะอาดก็เป็น Mega Trend ของโลกด้วย อีกทั้งบริษัท ยังมีปณิธานและความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการใช้นโยบายส่งเสริมสังคม สิ่งแวดล้อม และใช้หลักการธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแลกิจการตามแนวทาง ESG อย่างเคร่งคัด
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ ในฐานะ Sole Bookrunner และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ACE มีความโดดเด่นที่น่าสนใจต่อนักลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำโรงไฟฟ้าสะอาดต้นแบบของประเทศไทย, รายได้และกระแสเงินสดมีเสถียรภาพสูง, อัตรากำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน, แผนโครงการในอนาคตและความเชี่ยวชาญของบริษัทสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง ,ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่กำลังขยายตัว และศักยภาพในการเติบโตอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น รายได้จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น
บริษัทจะได้รับผลดีจากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (PDP : Power Development Plan) ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ACE เป็นสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบบ Feed-in Tariff (FiT) จึงมีความแน่นอนและมั่นคงในเรื่องของราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าตลอดระยะเวลาตามสัญญาและเป็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดเต็มจำนวนตามสัญญา
ดังนั้น ACE จึงมีความเสี่ยงต่ำในเรื่องของปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคาค่ากระแสไฟฟ้าของประเทศไทยและปริมาณความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทั้งในประเทศและในระดับสากลจากการนำระบบ Auto Load Control (ALC) มาใช้ควบคุมการผลิตไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเครื่องจักร ประหยัดเชื้อเพลิงและลดการสูญเสียที่ไม่เกิดประโยชน์ มีการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตภายในโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน ทำให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของโรงไฟฟ้า ทั้งยังสร้างอาชีพ สร้างงาน และ สร้างรายได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชาชนในชุมชน จนได้ชื่อว่าเป็นโรงไฟฟ้าของชุมชน ที่ดำเนินการโดยชุมชน และเพื่อประโยชน์ของชุมชน