บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 700 ล้านบาทของ บมจ. ภัทรลิสซิ่ง (PL) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทคงเดิมที่ระดับ “A-" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารของบริษัทในการรักษาสถานะผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ (Operating Lease) ในช่วงที่การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระบบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตและการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่า (Residual Value) ที่ดีซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีในช่วงการขยายตัวของสินทรัพย์ให้เช่า ในการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเอกชน ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดความสามารถในการทำกำไรและการขยายธุรกิจของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความสามารถของบริษัทภัทรลิสซิ่งในการรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์และมีผลประกอบการในระยะปานกลางตามคาด โดยบริษัทน่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้าสำคัญกลุ่มเดิมไปพร้อมกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงและการขาดทุนที่คาดไม่ถึงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในปี 2549 บริษัทภัทรลิสซิ่งสามารถรักษาฐานะผู้นำในตลาดเช่าดำเนินงานรถยนต์โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 24% (ลดลงจาก 29% ในปี 2548) ของสินทรัพย์ให้เช่ารวมของผู้ประกอบการรายใหญ่ 25 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง การขยายตัวของสินทรัพย์ให้เช่าและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนตัวลงเล็กน้อยในปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548-กันยายน 2549) เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยยอดสินทรัพย์ให้เช่าใหม่โดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 455 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วงปีงบประมาณ 2547 มาอยู่ที่ระดับ 346 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วงปีงบประมาณ 2548 และ 215 ล้านบาทต่อไตรมาสในช่วงปีงบประมาณ 2549 ในช่วงปีงบประมาณ 2549 ลูกค้ารายใหญ่ 2 รายซึ่งมีสัดส่วนสินทรัพย์ให้เช่าคงเหลือรวมกันคิดเป็น 22% ของมูลค่าสินทรัพย์ให้เช่ารวมของบริษัทได้ตัดสินใจหยุดใช้บริการเช่าดำเนินงานรถยนต์จากบริษัทหลังหมดอายุสัญญาและมีแผนจะใช้บริการจากบริษัทในเครือของตนเองแทน ซึ่งบริษัทในเครือดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในธุรกิจนี้จากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2550 ผู้บริหารของบริษัทได้พิสูจน์ความสามารถในการหาลูกค้ารายใหม่มาทดแทนลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 2 รายได้ มีผลให้ยอดสินทรัพย์ให้เช่าใหม่ของบริษัทฟื้นตัวขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 858 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2549 มาเป็น 1,553 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2550 ปัจจุบัน สินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทภัทรลิสซิ่งมีกำไรสุทธิในปีงบประมาณ 2549 เท่ากับ 173 ล้านบาท โดยลดลงจาก 182 ล้านบาทในปีบัญชี 2548 แม้ว่ารายได้ค่าเช่าจากสัญญาเช่าดำเนินงานจะลดลงก็ตาม แต่กำไรสุทธิของบริษัทในปีงบประมาณ 2550 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 267 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าเพิ่มขึ้นและได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี บริษัทขยายสินทรัพย์ด้วยการใช้เงินกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีระดับการก่อหนี้สูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2548-2550
เนื่องจากการเพิ่มทุนในเดือนกันยายน 2548 และการลดลงเล็กน้อยของสินทรัพย์ให้เช่าในปีงบประมาณ 2549 และ 2550 บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากการมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ณ เดือนกันยายน 2550 จำนวนค่าเช่าค้างชำระของบริษัทมีเพียง 3 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.07% ของสินทรัพย์ให้เช่ารวม การมีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศและการมีฐานเงินทุนที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นช่วยเพิ่มระดับความสามารถของบริษัทในการให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ก็ตาม แต่ความเสี่ยงดังกล่าวได้รับการชดเชยจากปริมาณการค้างชำระค่าเช่าของลูกค้าที่อยู่ในระดับต่ำเพราะลูกค้ารายใหญ่ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินที่น่าเชื่อถือ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--