BCP เล็งส่งบ.ย่อยเซ็น MOU ร่วมสตาร์ทอัพปลายปี ก่อนต่อยอดตั้งรง.ผลิตสินค้ากลุ่มไบโอเบสในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 10, 2019 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนสตาร์ทอัพในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสตาร์ทอัพ 6-7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นอยู่ระหว่างที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์มาเป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไบโอเบส (Bio-Based) โดยคาดว่าบมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จะลงนามสัญญากับสตาร์ทอัพดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่อไป

"เราจะประกาศลงทุนร่วมกัน MOU agreement ในการทำ commercial สิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้ามีอะไรออกมาแน่นอน...เราจะทำ Co กับสตาร์ทอัพ โดย BBGI เป็นคนร่วมมือด้วย ทำงานร่วมกัน การตั้งโรงงานในไทยก็เป็น target แรกของเรา เรามี value ที่จะสร้างโรงงานในอนาคตได้ เพราะเรามีของผลิตในไทยและมีเทคโนโลยี การเปลี่ยน convert น้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ตรงกับเขา เขาอยากได้ แต่เทคโนโลยีที่เป็นพาร์ทของเขา ก็เอามาจากเขา"นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนผลิตภัณฑ์กลุ่มไบโอเบส น่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท มีกำลังการผลิตในระดับกลางก่อนจะค่อย ๆ ขยายเพิ่มเติม ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มลูกค้าในประเทศ เมื่อได้ข้อสรุปลูกค้าแล้วก็น่าจะสามารถประกาศการลงทุนได้ต่อไป โดยการนำพืชทางการเกษตร มาผลิตผลิตภัณฑ์ลักษณะโปรตีนทางเลือก (alternative protien) ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนามาเป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือใช้เป็นคอลลาเจนใช้ทาหรือฉีด รวมถึงการพัฒนาเป็นเสื้อผ้า หรือยา เป็นต้น

โดยในไทยยังไม่มีการผลิตสินค้าประเภทดังกล่าว ขณะที่ในต่างประเทศมีการผลิตบ้างแล้ว เช่น การผลิตโปรตีนที่แทนเนื้อสัตว์ในแฮมเบอร์เกอร์ หรือการผลิตโปรตีนแทนเนื้อไก่ในร้านไก่ทอดชื่อดัง เป็นต้น

สำหรับการลงทุนสตาร์ทอัพของบางจากฯ นอกจากจะอยู่ในกลุ่มไบโอเบสแล้ว ยังมีการลงทุนในกลุ่มพลังงานสีเขียว (Green Energy) ซึ่งรวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีการชาร์จเร็ว (Super Fast Charge) โดยกลุ่มบางจากฯได้ลงนาม MOU กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะร่วมกันติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในระบบ Fast Charge จำนวน 62 แห่งทั่วประเทศภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 63 ซึ่งการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาเพียง 20 นาที หรืออาจจะเร็วกว่านั้น โดยบางจากฯจะเป็นผู้ลงทุนสถานที่ ส่วนกฟภ.จะลงทุนหัวจ่าย เพราะการชาร์จในระบบ Fast Charge ใช้พลังงานสูงมากหากเกิดไฟกระชากก็อาจจะกระทบต่อความเสียหายของระบบ ดังนั้น กฟภ.ก็จะเป็นผู้ดูแลในส่วนดังกล่าว

ปัจจุบันบางจากฯ มีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ 2-3 แห่ง แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะชาร์จไฟฟ้าจากที่พักอาศัย ส่วนการชาร์จนอกสถานีจะมีเพียงรถสาธารณะเท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว ก็ควรส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเอง ในรูปแบบ Peer-to-Peer trading ได้จริง

สำหรับบางจากฯ ปัจจุบันนำร่องสร้างนวัตกรรมสีเขียวรูปโฉมใหม่ Bangchak Greenovative Experience รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ของคนไทย โดยพัฒนารูปแบบสถานีบริการน้ำมันแบบใหม่ ด้วยโครงการ Green Community Energy Management System (GEMS) ที่สถานีน้ำมันบางจาก ศรีนครินทร์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว สำหรับใช้ในอาคาร ร้านค้าต่าง ๆ ภายในสถานีบริการ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต

GEMS ประกอบด้วยโซลาร์รูฟบนหลังคาสถานีบริการน้ำมัน อาคารร้านค้า SPAR และที่จอดรถ ขนาดกำลังการผลิตรวม 279 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System:ESS) หรือแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมอิออน (NMC และ LFP) ขนาด 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) โดย GEMS จะซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 4 ซึ่งมีราคาต่ำมากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และนำไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาใช้ในเวลากลางวัน โดยโครงการนี้ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เกือบ 2 ล้านบาท/ปี ซึ่งหาก ESS มีราคาถูกลงก็มีแผนจะขยายโครงการไปในสถานีบริการน้ำมันบางจากแห่งอื่นในอนาคต

โครงการดังกล่าวได้รับรางวัล Asean Energy Award 2019 รองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านพลังงานทดแทน สำหรับโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ