นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารเตรียมนำเสนองบลงทุนด้านดิจิทัลในปีต่อไปเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ในช่วงบ่ายวันนี้ คาดว่าจะมีการใช้งบลดลงจากเดิมที่ใช้ไปแล้วราว 4 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนที่สร้างประสิทธิภาพและสร้างรายได้ให้กับธนาคารมากขึ้น
พร้อมกับการช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนการให้บริการ (Cost to income) ลดลงมาอยู่ที่ 30% จากปัจจุบันที่ 48% ตามเป้าหมายของธนาคาร เพื่อให้สามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น และอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่ค่อนข้างสูงและเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยอื่นๆ และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
แต่ยอมรับว่าการลดต้นทุนการบริหารของธนาคารนั้นทำได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน ซึ่งเกิดการการติดขัดจากโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการลงทุนด้านดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุน
นอกจากนี้ ธนาคารยังมองไปถึงการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาเพิ่มฐานลูกค้าให้กับธนาคารอีก 20 ล้านราย พร้อมกับการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อยกระดับการให้บริการ และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการบนเทคโนโลยีที่มี อย่างเช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) มาใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้า ซึ่งทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง เป็นต้น
นายอรพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการ และทำให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่รอดในภาวะที่อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ธนาคารมีความจำเป็นต้องมีการปรับตัว และมองหาการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารและเพิ่มรายได้ให้กับธนาคาร
ปัจจุบันรายได้จากการให้บริการต่างๆ ของธนาคารได้หายไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะรายได้จากการให้บริการทำธุรกรรมการโอน-จ่ายบิลผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารรายแรกที่ไม่คิดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งในปีที่ผ่านมา
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 60-62) ธนาคารได้ใช้เงินลงทุนด้านดิจิทัลไปทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงินและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อนำมาปรับปรุงระบบการให้บริการของธนาคารและเพิ่มความสามารถในการให้บริการด้านดิจิทัล เพื่อทำให้ลูกค้าของธนาคารย้ายเข้ามาใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการใช้บริการผ่านสาขามากขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนในด้านการให้บริการของธนาคารลดลง ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 96% และลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องมางสาขามีสัดส่วนอยู่ที่ 4%
การลงทุนด้านดิจิทัลในระยะต่อไปจะเน้นเพื่อให้สามารถสร้างรายได้กลับมาให้กับธนาคารเพิ่มมากขึ้น หลังจากการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้เน้นไปที่การเสริมประสิทธิภาพของธนาคารให้มีความรวดเร็วและช่วยลดต้นทุนให้กับธนาคารได้ โดยธนาคารจะเข้าไปลงทุนในเทคโนโลยีที่มีฐานข้อมูลและนำมาต่อยอดในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับลูกค้าที่ธนาคารได้จากฐานข้อมูลนั้นๆ ซึ่งทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น มีช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับธนาคาร
ที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปลงทุนใน GO-JEK ผู้ให้บริการเรียกรถ หรือ Ride-Hailing ที่พัฒนาสู้บริการไลฟ์สไตล์ออนดีมานด์จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งธนาคารมองถึงการต่อยอดในการขยายฐานลูกค้าและการบริการด่านสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ กลุ่มร้านค้า และกลุ่มผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่น GET! ในประเทศไทยได้
"สิ่งที่เราให้ความสำคัญอีกอย่าง คือ การที่เราต้อง Growth Outside Industry ซึ่งจะเห็นว่าจุดประสงค์ในระยะยาวของแอพพลิเคชั่นต่างๆที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็น Line Grab หรือ GO-JEK สุดท้ายแล้วทุกคนก็มองไปที่การปล่อยกู้ ซึ่งแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นมีฐานข้อมูลเป็นจำนวนมาก และมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าเรา ทำให้มีความได้เปรียบด้านต้นทุน และรายได้ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในตอนนี้ก็วิ่งไปหาศูนย์ เหมือนอย่างเช่นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่วิ่งไปหาศูนย์เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจะต้องไปเติบโตนอกอุตสาหกรรมเพื่อนำ Data จากเทคโนโลยีต่างๆมาต่อยอดและสร้างรายได้กลับมาให้กับธนาคาร"นายอรพงศ์ กล่าว