นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) เปิดเผยว่า แนวโน้มในปี 62 คาดว่าผลประกอบการของบริษทจะขาดทุนลดลงหรืออาจจะพลิกลับมามีกำไรได้เล็กน้อย หลังจากบริษัทได้คืนใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล คือ ช่อง 3 SD และช่อง 3 Family ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนลดลง และบริษัทจะได้เงินชดเชยคืนกลับมาอีก 800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานต่างๆ ในบริษัทต่อไป
ขณะเดียวกัน การที่มีจำนวนช่องทีวีดิจิทัลในอุตสาหกรรมลดลง เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เม็ดเงินโฆษณาที่จะเข้ามามากขึ้น เพราะผู้เล่นในตลาดลดลงไปพอสมควร ซึ่งบริษัทยังมองว่าทีวียังเป็นสื่อหลักที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรับสื่อและบริโภคผ่านช่องทางทีวีในสัดส่วน 80-90% เนื่องจากเป็นคอนเทนท์ภาษาไทย เปรียบเทียบกับสื่อทีวีในต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักทำให้มีทางเลือกในการรับสื่อที่หลากหลายกว่า ส่งผลให้บทบาทของช่องทีวีไม่มากเท่ากับในประเทศไทย
ขณะที่พฤติกรรมการรับสื่อผ่านช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน แม้ว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่มองว่าการเข้าถึงช่องทางออนไลน์ยังมีสัดส่วนที่น้อยและจำนวนครั้งที่รับชมไม่มากเท่ากับการรับชมผ่านช่องทางทีวี เนื่องจากประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังใช้บริการโทรศัพท์มือถือในรูปแบบเติมเงิน (Prepaid) ซึ่งมีการเติมเงินเฉลี่ย 160 บาท/เบอร์/เดือน ทำให้ปริมาณ Data ที่ใช้เป็นข้อจำกัดและไม่เพียงพอต่อการรับชมบนช่องทางออนไลน์ แม้ว่าการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์จะมีการให้บริการฟรีก็ตาม
ส่วนบริการออนไลน์สตรีมมิ่ง NETFLIX ในประเทศไทยยังถือว่บเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเกินกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสื่อทีวีในประเทศไทย ทำให้บริษัทยังมองว่าธุรกิจทีวียังสามารถไปต่อได้
"ผมไม่ได้มองว่าทีวีจะต้องโตตลอด แต่ถ้าโตได้ก็ดี แต่เราต้องสร้างธุรกิจใหม่ก่อนที่ธุรกิจเก่ามันจะตก เราต้อง Transform ช่อง 3 ให้เป็น New Media และ New Business พยายามเปลี่ยน Media ใหม่ๆให้มีความสนุกขึ้น พร้อมกับการทำให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน เมื่อก่อนคนเปลี่ยนไปดูผ่านออนไลน์เยอะเพราะไม่มีโฆษณาเหมือนกับทีวี แต่ตอนนี้ออนไลน์ก็มีโฆษณาเข้ามาแล้วเหมือนกัน บางทีเยอะกว่าทีวีอีก ซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปได้
แต่ในเรื่องเม็ดเงินโฆษณายังไงทีวีก็ยังใหญ่กว่าออนไลน์ ที่ผ่านมาเห็นเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โตสูงมาก เพราะเป็นการโตจากฐานที่เล็ก และในภาพใหญ่คนยังมองว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ถูก ทำให้มีเมึดเงินโฆษณาไหลเข้าไปมาก"นายอริยะ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานไนการปรับเปลี่ยนรูปแบบของช่อง 3 นั้น จะไม่ได้เน้นการหารายได้จากการเป็นสื่อในรูปแบบ Traditional Media ที่ขายโฆษณา หรือการ Tie-in โฆษณาเพียงเท่านั้น แต่จะเน้นไปที่การการกระจายรายได้ช่องทางต่างๆ ได้แก่ ทีวี ออนไลน์ และต่างประเทศ โดยที่จะผลักดันให้บริษัทก้าวขึ้นเป็น Content & Entertainment Platform จากการใช้ทรัพยากรภายในช่อง 3 ที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา และผู้จัดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะพัฒนาเป็น Business Model ใหม่ให้กับบริษัท
พร้อมกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรในการสร้าง Content ในรูปแบบ Co-Production เพื่อทำให้มีรูปแบบ Content ที่หลากหลาย ช่วยลดต้นทุนของบริษัท และสามารถส่งผลงานไปขายให้กับต่างประเทศได้ โดยล่าสุดได้ไปเจาะตลาดขายละครให้กับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาด Content ใหญ่ในเอเชีย ได้แล้ว 10 เรื่อง
"ตอนนี้จะเห็น Trend ของบริษัท Content ระดับ Global อย่าง Disney ก็เริ่มออกมาสู้แล้วในการทำ Content Platform ของตัวเองมาเปิดให้บริการเป็น Disney+ จากเมื่อก่อนเขาผลิต Content ออกมา แล้วไปขายให้กับ Content Platform รายอื่น ซึ่งเขาก็รวบ Content ของเขากลับมาที่ Content ของตัวเองทั้งหมด ซึ่งมองว่าในอุตสาหกรรมตอนนี้ผู้ที่ถือ Content และเป็นผู้ผลิต Content มีความได้เปรียบและมีโอกาสทางธุรกิจมาก
อย่างช่อง 3 ที่มีทรัพยากรและ Content ที่แข็งแกร่ง เราจะนำจุดแข็งเรานี้มาต่อยอดและพัฒนาหาโอกาสใหม่ๆเข้ามา และการทำงานในปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียวลำพัง เราต้องมี Partnership ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ ซึ่งเป็น Trend ของธุรกิจไทยในตอนนี้ที่มีการผนึกกับ Partner มากขึ้น และมีการควบรวมกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจแบงก์"นายอริยะ กล่าว
นายอริยะ กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งบริหาร BEC ได้เพียง 4 เดือน ปัจจุจันอยู่ระหว่างการเตรียมและจัดทำแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวให้กับบริษัท ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเดินหน้าให้กับบริษัทในการเป็น Content & Entertainment Platform โดยคาดว่าจะมีความชัดเบนออกมาในช่วงปลายปีนี้