(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ก.ย.62 ลดลงมาอยู่ในโซนทรงตัวเป็นเดือนแรกจากสงครามการค้า-ศก.ในประเทศชะลอกดดัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 11, 2019 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ย.62 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.62) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) โดยลดลง 21.70% มาอยู่ที่ระดับ 102.74

"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) โดยผลสำรวจพบว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน"นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish) ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ลดลงเล็กน้อยอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

"ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงค่อนข้างมากมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดย กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมากมาอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว กลุ่มสถาบันในประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงเช่นเดิม"

นายไพบูลย์ ระบุว่า ในช่วงเดือน ส.ค. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากระดับสูงสุดช่วง 1700 จุดในต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัวมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1590 จุด ในช่วงกลางเดือน ก่อนฟื้นตัวและทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวในระดับ 1640-1650 จุดในช่วงปลายเดือน

โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือนโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐ จากการคาดหวังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในปี 62 และ 63 รองลงมาคือนักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐ จากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่การประกาศตัวเลขการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมีความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการประกาศตอบโต้เพิ่มอัตราภาษีทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอียู ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายทางการเงินรวมถึงมาตรการ QE จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แนวโน้ม Brexit ที่มีกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค.62 เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง"

ด้านดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.ย.62 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนกันยายนนี้ อยู่ที่ระดับ 44 ลดลงเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือน ก.ย.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 9 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (23 ส.ค. 62) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. เดือน พ.ย.62 (ประมาณ 9 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 25 และ 22 ตามลำดับ ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" ซึ่ง Bond yield 5 ปีอยู่ที่ระดับ 1.48% และ Bond yield 10 ปีอยู่ที่ 1.54% ณ วันที่ทำการสำรวจ (23 ส.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มลดลง อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ และ Fund flow จากต่างชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ