นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินบมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เปิดเผยว่า AWC กำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 6 บาท/หุ้น กำหนดจองซื้อระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย.62 ก่อนนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนประมาณ 6,957 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) ไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น
บริษัทจะร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในวันพุธที่ 11 ก.ย.นี้ เปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย.และคาดว่านำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ราวต้นเดือน ต.ค.62
วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ของ AWC จะนำเงินไปใช้ในการเข้าซื้อกิจการและปรับปรุงทรัพย์สินในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ จำนวน 12 โครงการ มูลค่ารวมราว 2.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โรงแรม 4 แห่งที่เปิดดำเนินการอยู่ และโรงแรมอีก 8 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะเป็นโครงการใหม่ๆที่เข้ามาเพิ่มในพอร์ตของ AWC หลังระดมทุนขาย IPO พร้อมกับใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับธนาคาร ซึ่ง ณ สิ้นปี 61 บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2.5 เท่า และลดระดับหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทั้งพัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัท
"มุมมองของตลาดทุน AWC ถือเป็น Landmark ของ IPO ในปีนี้ ในเรื่อง Size ที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้และหลายๆปีที่ผ่านมา ถ้าหากนึกถึง Hospitality Tourist โรงแรมระดับ Midscale ที่มีจำนวนห้องเกือบ 8,000 ห้อง Flagship Lifestyle อย่าง Asiatique และออฟฟิศที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพอย่าง Empire Tower ก็ต้องนึกถึง AWC ทำให้มั่นใจว่าศักยภาพของ AWC จะเป็นที่ทำให้นักลงทุนเกิดความสนใจและได้รับการตอบรับที่ดี และหลังเข้าตลาด AWC น่าจะเป็นหุ้นที่มี Marketcap ใหญ่ที่สุดในตลาด"นางสาววีณา กล่าว
ขณะที่ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไปใช้ในกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังเข้าจดทะเบียนซื้อขาย
ทั้งนี้ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง, บล. ภัทร และ บล.ไทยพาณิชย์ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อีก 8 แห่ง ได้แก่ บล.กรุงศรี, บล. เคที ซีมิโก้, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), บล.ธนชาต, บล.ทิสโก้, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย), บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และ บล.เคทีบี (ประเทศไทย)
ขณะที่มีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศประเภท Cornerstone Investor จำนวน 13 ราย ได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.กรุงไทย บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ธนชาต บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต Affin Hwang Asset Management Berhad, Maitri Asset Management และ GIC Private Limited ได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่เสนอขายครั้งนี้ เป็นจำนวนรวม 3,454,000,000 หุ้น หรือประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ที่ราคา 6.00 บาทต่อหุ้น
อนึ่ง AWC ประกอบธุรกิจพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรในประเทศไทย บนทำเลที่ดีเยี่ยม ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (Freehold) ถึง 90% โดยแบ่งเป็น (1) กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่ง AWC เป็นเจ้าของโรงแรมระดับ Midscale ขึ้นไปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากจำนวนห้องพักทั้งหมดของบริษัทฯ และอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทฯ ตกลงเข้าซื้อตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 62 ทั้งในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ในเขตเมืองและเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดทั้งกลุ่มไมซ์ และนักท่องเที่ยวทุกประเภท โดยมีเครือข่ายพันธมิตรผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับสากลถึง 6 กลุ่มพร้อมด้วยฐานลูกค้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านราย
(2) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial Building) ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ทั้งแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวอย่างเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์และคอมมูนิตี้มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์เกทเวย์ พันธุ์ทิพย์ และตะวันนา นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานแบบมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ระดับเกรดเอ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่เช่าสุทธิ
AWC ยังมีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จากข้อได้เปรียบที่ได้รับการสนับสนุนจาก Ecosystem ของ TCC Group โดยมีแผนจะเข้าลงทุนในกิจการเจ้าของทรัพย์สินรวม 14 โครงการด้วยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อซื้อและพัฒนากิจการ โครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการที่เปิดดำเนินการแล้วอย่าง โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ , โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท แอนด์สปา , โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา ในยางบีช และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรสส์ กรุงเทพ สาทร
นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแบรนด์สากล อาทิ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง, โรงแรมแกรนด์ โซเล่, โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเป็นแบรนด์ Melia อีกทั้งยังมีโครงการโรงแรมที่จะพัฒนาใหม่ อาทิ โรงแรมเจริญกรุง 93 ที่จะจับกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยว, โรงแรมอีสต์ เอเชีย ในย่านเก่าแก่บนอาคารคลาสสิคกว่า 100 ปี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา, โครงการในพัทยาประเภทมิกซ์ยูส ที่ครอบคลุมทั้งในส่วนโรงแรม ค้าปลีก และกิจกรรมนันทนาการอีกมากมาย รวมพื้นที่จัดประชุมและงานอีเวนท์ขนาดใหญ่บนหาดพัทยา ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้จะทยอยเปิดให้ดำเนินการระหว่างปี 64-67
ในส่วนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) บริษัทฯ มีแผนในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส อันประกอบด้วย โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ส่วนต่อขยาย (เฟส 2) โรงแรมแบงค็อกแมริออท ดิ เอเชียทีค และโรงแรมเจริญกรุง 93
บริษัทยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เป็นรูปแบบอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส หรือรูปแบบอื่นๆ และมีแผนเพิ่มทางเลือกด้านความบันเทิงและสันทนาการรูปแบบใหม่ให้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการใช้พื้นที่ของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว AWC จะมีโครงการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) รวมทั้งสิ้น 27 โครงการ จากปัจจุบันที่มีโครงการ 14 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง และรวมโครงการอีก 4 แห่ง ตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 62 และโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนการพัฒนาจำนวน 13 แห่ง เป็นโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือแผนในการพัฒนา 11 แห่ง และ โครงการอสังหาริมทรัพย์ Mixed-use อีก 2 แห่ง ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า AWC จะมีห้องพักโรงแรมรวม 8,506 ห้อง
ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail และ Wholesale) บริษัทฯ จะมีพื้นที่เช่าสุทธิรวม 415,481 ตารางเมตร จากโครงการทั้งหมด 11 โครงการ โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 9 โครงการ รวม 1 โครงการ ที่บริษัทฯ ได้ทำข้อบันทึกตกลงสัญญาว่าจ้างบริหารเกทเวย์ เอกมัย และเพื่อพิจารณาเข้าลงทุนปี 62 และอีก 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบความพร้อมต่าง ๆ พร้อมกับเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานอีก 4 แห่ง ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิรวม 270,594 ตารางเมตร
ผลการดำเนินงานของ AWC ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 59-61) มีการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยที่มีรายได้รวม 9.41 พันล้านบาท 1.12 หมื่นล้านบาท และ 1.24 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ และมีรายได้ครึ่งปีแรกของปี 61 ที่ 6.21 พันล้านบาท โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจโรงแรม 60% และรายได้จากธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก 40%