นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดผยว่า บริษัทเตรียมจะเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบจากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาแทนที่ ซึ่งการเพิ่มพอร์ตการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีจะยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยคาดหวังจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในสัดส่วน 50:50 จากปัจจุบันที่ EBITDA ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน
"ตอนนี้เรามีโครงการ CFP ที่เราลงทุน ก็จะเป็น Step ที่เราจะต้องไป ไม่ใช่ final destination เราต้อง transform ตัวเองจากโรงกลั่นไปเป็นพลังงานมากขึ้น อาจจะรวมถึงพวกปิโตรเคมีมากขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ค่อย ๆ ขยาย คงไม่ได้ทำในทันที เพราะต้องค่อย ๆ move ไป เป็น step ที่ move ไป ซึ่งเป็นทิศทางทีดี"นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่น โดยจะอัพเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล และขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งโครงการนี้จะมีผลพลอยได้ คือ แนฟทา ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี
ทั้งนี้ บริษัทจะหารือร่วมกันในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เพื่อพัฒนาโครงการปิโตรเคมีร่วมกันเพื่อให้มีขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) มีโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS ) ที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตพาราไซลีน ขนาด 1-1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3-5 แสนตัน/ปี แต่กลุ่ม ปตท.ได้มีการทบทวนโครงการใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ลดลง ซึ่งล่าสุดทาง IRPC ก็เตรียมเดินหน้าการลงทุน ซึ่งหากบริษัทจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย ก็จะทำให้โครงการ MARS มีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแล้ว บริษัทยังได้นำนวัตกรรม และ digitalization เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติงบประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการเชิงลึกในโครงการ Digital Transform Program ที่มีโครงการรองรับ 57 โครงการ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมาร์จิ้นให้กับธุรกิจในอนาคต