นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมจัดทำแผนธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจาก ปตท.ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม "โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. และโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรรมชาติเหลว ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
สำหรับแผนการดำเนินงาน จะเป็นการทดลองบรรจุ LNG จากคลังใส่เรือ เพื่อขนไปจำหน่ายให้กับลูกค้า เบื้องต้นเจรจากับลูกค้าบางรายแล้ว เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และในอนาคตจะต่อยอดไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นความเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ซื้อขาย LNG ในอาเซียน ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งไทยมีความได้เปรียบ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐาน และมีความต้องการใช้LNG ค่อนข้างมาก
ขณะที่ ปตท.จัดงาน Gas Day 2019 Energy Fuel for today and tomorrow ระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ซึ่งมีการจัดเสวนาวิชาการ โดยมีบริษัทคู่ค้าชั้นนำมาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับตลาด LNG การจัดหาพลังงานแบบ Smart Factory รวมถึงการมองไปสู่อนาคตอย่งาการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ และ AI Solutions เพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงจัดโซนนิทรรศการธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการดำเนินงาน ตลอดจนผลงานตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ
โดยการจัดงาน Gas Day 2019 จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมก๊าซฯ ซึ่งกลุ่ม ปตท. มีการดำเนินธุรกิจก๊าซฯแบบครบวงจรเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้า และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขนส่งก๊าซฯที่เดิมเป็นการขนส่งทางท่อ ก็สามารถขนส่งทางรถบรรทุกได้ ทำให้ปตท.จะขยายขอบเขตความร่วมมือกับลูกค้าเพื่อนำก๊าซฯไปใช้ในโรงงาน และใช้ผสมเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
ด้านนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกับ ปตท. ร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม (Air Separation Unit :ASU) ได้แก่ ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่จะยังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง กำลังผลิตประมาณ 450,000 ตัน/ปี คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 64 พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยสามารถนำไนโตรเจนที่ผลิตได้จากโครงการไปต่อยอดนวัตกรรมในการรักษาคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ก่อนที่จะนำไปเก็บในห้องเย็น ทำให้สามารถเก็บรักษาผลไม้ไว้ได้และมีคุณภาพที่ดีขึ้น