โบรกฯเห็นพ้อง"ซื้อ"SCB เล็งผลงาน H2/62 ดีกว่า H1/62 จากสินเชื่อขยายตัว-รับผลดีขาย SCBLIFE-ลุ้นปันผลพิเศษ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 12, 2019 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ เห็นพ้อง"ซื้อ"หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดให้เป็น Top Pick เล็งผลดำเนินงานครึ่งหลังปีนี้เติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จากสินเชื่อเที่ขยายตัวต่อเนื่องในทุกกลุ่ม และยังได้รับผลดีจากการขาย บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBIFE) ให้กับ FWD Group Financial Services Pte.Ltd. (FWD) ซึ่งจะได้รับเงินในช่วงครึ่งหลังปีนี้ รวมถึงค่าธรรมเนียมการเข้าถึงช่องทางการให้บริการของธนาคาร (Access fee) หลังจากการขายกิจการ SCBLIFE จึงเชื่อว่าธนาคารอาจจ่ายเงินปันผลพิเศษ

นอกจากนั้น คาดว่าสินเชื่อของ SCB จะเติบโต 4-7% ในปีนี้ ขณะที่ NPL มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับกลุ่มแบงก์ โดยจะเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในไตรมาส 3/62 แต่คงจะไม่มากนัก โดย SCB สิ้นไตรมาส 2/62 มีตัวเลข NPL อยู่ที่ 2.7% ในปีนี้ก็คาดว่า SCB จะมี NPL อยู่ประมาณ 2.8-2.85% ซึ่งยังเป็นระดับที่ยอมรับได้

พักเที่ยงราคาหุ้น SCB อยู่ที่ 124.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 1.22% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.06%

          โบรกเกอร์                     คำแนะนำ                    ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)      ซื้อ                          160.00
          เอเชีย เวลท์                     ซื้อ                          159.00
          เอเอสแอล                       ซื้อ                          155.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)             ซื้อ                          155.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)               ทยอยซื้อ                      153.00
          ฟินันเซีย ไซรัส                    ซื้อ                          152.00
          เคจีไอ (ประเทศไทย)              ซื้อ                          153.00

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เหตุผลที่แนะนำ"ซื้อ"หุ้น SCB พร้อมเลือกให้เป็นหุ้นในกลุ่ม Top Pick เนื่องจากราคาหุ้น SCB ยังมี upside อยู่มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ 153 บาท/หุ้น และยังเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อขยายตัว รวมถึงยังสามารถเก็งกำไรจากการขาย SCBLIFE ได้ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของ SCB ในครึ่งหลังปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จากสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งสินเชื่อปีนี้คาดว่าจะเติบโต 7% และยังได้รับผลดีจากการขาย SCBLIFE ด้วย ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีที่แล้ว ที่มีกำไรสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของเงินปันผลก็คาดว่าปีนี้ SCB จะจ่าย 5.50 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จ่ายปันผล 5.00 บาท ซึ่งคิดอัตราผลตอบแทนจากปันผล (Dividend yield) ประมาณ 4.5%

สำหรับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มแบงก์ ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 3/62 ก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นแต่คงจะไม่มากนัก โดย SCB สิ้นไตรมาส 2/62 มีตัวเลข NPL อยู่ที่ 2.7% ในปีนี้ก็คาดว่า SCB จะมี NPL อยู่ประมาณ 2.8-2.85% ซึ่งก็ยังเป็นที่ยอมรับได้

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า SCB ได้ทำสัญญาขายหุ้น 99.2% ใน SCBLIFE ให้กับ FWD Group Financial Services ธนาคารจะได้รับเงินล่วงหน้า 9.27 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งรวมถึงค่า Access fee สำหรับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านเครือข่ายของธนาคาร จึงคาดว่าจะได้รับกำไรหลังหักภาษีบันทึกครั้งเดียวที่ 1.07 หมื่นล้านบาท โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อดีลนี้ เนื่องจากกำไรจากการลงทุนเพียงครั้งเดียวจะช่วยหนุนงบดุล

SCB มีพอร์ตลูกค้าสินเชื่อ SME ที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนเพียง 16% ของสินเชื่อรวม โมเมนตัมของผลประกอบการน่าจะดีขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายการลงทุนสำคัญได้สิ้นสุดลงหลังจากการขายกิจการ SCBLIFE จึงเชื่อว่าธนาคารอาจจ่ายเงินปันผลพิเศษ หรืออาจหาโอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) จึงคาดว่าผลประกอบการจะโต 1% ในปีนี้ และ 7% ในปี 63 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่สูงขึ้นและการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ชะลอตัว คาดว่าจะชดเชยธุรกิจขายประกันชีวิตผ่านธนาคารและธุรกิจกองทุนรวมที่อ่อนแอ

SCB มีเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 5-7% ในปีนี้เทียบกับที่คาด 4% ธนาคารวางแผนจะเพิ่มสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกันแทนสินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 38% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ให้ผลตอบแทนต่ำ จึงเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในครึ่งหลังของปี 62 และ 63 ได้ แต่ยังคงระมัดระวังในแง่คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ คงสัดส่วนไว้ที่ 40% ของทั้งหมด เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและรายได้ภาคเกษตรที่อ่อนแอ

ส่วน บล.เอเอสแอล ระบุว่า SCB มีการเติบโตที่โดดเด่นเหนือกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จึงเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มธนาคาร โดยประเมินกำไรสุทธิปีนี้ 4.34 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 8.3% จากปีก่อน จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นหลังขาย SCBLIFE ซึ่งสามารถเอาไปต่อยอดหาผลตอบแทนอื่นได้ ประกอบกับ การเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่สร้างผลตอบแทนสูงขึ้นส่งผลต่อ NIM ที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง รวมถึงคาดว่าจะเริ่มบันทึก Access fee ได้ในปีนี้ราว 1.7 -2.0 พันล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ สินเชื่อปีนี้คาดเติบโต 5.3% จากการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเข้ามา คาดว่า Loan yield จะปรับตัวขึ้นอีก 10 bps เป็น 5.4% และ NIM ปี 63 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% ด้านค่าใช้จ่ายงบไอทีเริ่มลดลงหลังผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 1/62 ไปแล้ว จึงอาจเห็น Cost to income ของ SCB กลับมาแตะที่ระดับ 45% ได้ในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการตั้ง provision ที่มี credit cost ต่ำกว่าเป้าหมายเป็น upside ต่อประมาณการสะท้อนผ่านคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งคาดว่า NPL จะทรงตัวที่ 2.8%

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ในเชิงพื้นฐานยังคงมุมมองบวกต่อการดำเนินงานในครึ่งหลังปีนี้ของ SCB จาก Cost to income ที่ปรับตัวลงหลังจบการลงทุนไอทีขนาดใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ