ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่ระดับ "BBB+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "A-" โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของทั้งผู้ค้ำประกันและผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทได้รับการค้ำประกันในสัดส่วน 45% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระโดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" (International Scale) จาก S&P Global Ratings
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการมีธุรกิจที่หลากหลายและความสัมพันธ์ที่ยาวนานทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่ได้รับจากเงินปันผลจากบริษัทร่วม 2 บริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีอัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำและรายได้ที่ผันผวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากงานโครงการ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่ารายได้จะฟื้นตัว สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2562 รายได้ของบริษัทลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 5.95 พันล้านบาทเนื่องจากความล่าช้าจากโครงการภาครัฐบางโครงการ อย่างไรก็ตาม รายได้จากโครงการที่ล่าช้าจะรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีมูลค่างานในมือจำนวน 12 พันล้านบาทซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าหลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภาครัฐจะยังคงใช้งบลงทุนมากขึ้นในอุตสาหกรรมเทศโนโลยีและสารสนเทศเนื่องจากต้องการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าในการเพิ่มรายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการด้านอาหารและจัดจำหน่าย และธุรกิจบริการ ดังนั้นทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะฟื้นตัวอยู่ระหว่าง 1.4 หมื่นล้านบาท ถึง 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2562-2564
อัตรากำไรจากการดำเนินการจะปรับตัวดีขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 1%-2% เนื่องจากรายได้ที่ลดลง โดยที่บริษัทยังมีต้นทุนในการขายและบริหารอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงาน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่งานโครงการของหน่วยงานภาครัฐจะมีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำเนื่องจากโครงการของภาครัฐส่วนใหญ่จะต้องมีการประมูลแข่งขันกันซึ่งเป็นการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทได้ริเริ่มแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเพิ่มอัตราการทำกำไรด้วย โดยภายใต้แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจบริษัทได้ยกเลิกบางธุรกิจที่ไม่ทำกำไรและลดค่าใช้จ่ายพนักงานลง นอกจากนี้ บริษัทจะเพิ่มกลุ่มลูกค้ามากขึ้นและมุ่งเน้นในธุรกิจการให้บริการซึ่งจะสร้างอัตรากำไรให้สูงขึ้น ทั้งนี้ หากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจประสบความสำเร็จจะช่วยให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับฟื้นตัวขึ้นในปี 2563 และ 2564
ธุรกิจที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ บริษัทให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายผ่านบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยธุรกิจของบริษัทสามารถแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ (1) ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) ธุรกิจพลังงาน (3) ธุรกิจ Network Solution (4) ธุรกิจให้บริการด้านอาหารและจัดจำหน่าย และ (5) ธุรกิจบริการ บริษัทยังได้ลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าหลายแห่งซึ่งช่วยขยายขอบเขตกิจการของบริษัทออกไปในหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเครื่อง เหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะและเคลือบสี และอื่น ๆ โดยแหล่งรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจจำนวนมากจะช่วยลดความผันผวนของรายได้
ความเข้มแข็งทางธุรกิจมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกลุ่มลูกค้า บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานทั้งกับลูกค้าและผู้ผลิตและจำหน่าย โดยบริษัทมีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าภาครัฐหลายแห่งจากการมีประวัติผลงานในโครงการจำนวนมากที่สำเร็จลุล่วง บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายระดับโลกมาเป็นเวลานาน
บริษัทมีคณะผู้บริหารและพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถในการให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การมีความชำนาญทางเทคนิคในระดับสูงของพนักงานยังช่วยสร้างนวัตกรรมหรือเพิ่มโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่บริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถชนะการประมูลงานภาครัฐได้อยู่เสมอ
กระแสเงินสดส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลของบริษัทร่วม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคิดเป็นส่วนใหญ่ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย บริษัทร่วมหลักเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ บริษัท บีพี ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ บริษัท บลูสโคปสตีล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กชั้นแนวหน้าซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ เงินปันผลเป็นแหล่งกระแสเงินสดที่แน่นอนและสม่ำเสมอของบริษัทเนื่องจากบริษัทร่วมมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีผลประกอบการที่ดี ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมจะอยู่ระหว่าง 400 ล้านบาทถึง 600 ล้านบาท
คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น ภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเงินกู้สินเชื่อโครงการ ภาระหนี้จึงมักอยู่ในระดับสูงเมื่อบริษัทได้รับสัญญาจากงานโครงการใหม่ ๆ ณ เดือนมิถุนายน 2562 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.35 พันล้านบาทจากระดับ 3.35 พันล้านบาทในปี 2561 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 42.4 ณ เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับระดับ 35.8% ในปี 2561
ส่วนอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จาก 5.3 เท่าในปี 2561 ตามแผนการปรับปรุงผลการดำเนินงานจากแผนปรับโครงสร้างองค์กร ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 33% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะลดลงเป็น 5 เท่าในปี 2564
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดจำนวน 832 ล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 393 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 400 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และบริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 3.40 พันล้านบาท เมื่อรวมสภาพคล่องทั้งหมดของบริษัทแล้วคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทใน 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวจำนวนประมาณ 953 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 2.29 พันล้านบาท และงบลงทุนจำนวนประมาณ 150 ล้านบาทในปี 2562
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.6 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระหว่างปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานดังต่อไปนี้
รายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 14 พันล้านบาท ถึง 16 พันล้านบาทในช่วงปี 2562-2564
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการขาดทุนในปี 2562 เป็น 1% ในปี 2563 และปี 2564
งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 33% ในปี 2564
อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะปรับตัวดีขึ้นจาก 8% ในปี 2562 เป็น 15% ในปี 2564
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะลดลงเป็น 5 เท่าในปี 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะการแข่งขันในการประมูลงานและสร้างรายได้จากงานโครงการได้ในระดับที่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จจากการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทจะช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทให้ดีขึ้นด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีในระยะใกล้เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทแย่ลงกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งซึ่งอาจส่งผลมาจากอัตราการทำกำไรของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือเงินปันผลรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ