สร.กทพ.ส่งเรื่องรมว.คมนาคมช่วยขวาง BEM ยืดอายุสัมปทานแลกข้อพิพาทที่ยังไม่ตัดสิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 12, 2019 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มอบให้ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม และนายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำ รมว.คมนาคม รับหนังสือจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งมีผู้แทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เข้ายื่นหนังสือขอให้แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน

สร.กทพ. ได้เสนอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสู้คดีในกรณีข้อพาทระหว่าง กทพ. กับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งมีการฟ้องร้องคำเนินคดีในศาลปกครอง 19 คดี โดยทั้งสองบริษัทฟ้อง กทพ. 15 คดี และ กทพ. ฟ้องบริษัท 2 คดี โดยมี 1 คดี ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทพ. แพ้คดี และจ่ายค่าเสียหายตาม คำฟ้องให้แก่ NECL เป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท ส่วนอีก 16 คดี อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ

เนื่องจากการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยแลกกับการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษา ซึ่ง สร.กทพ. เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อ กทพ. ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และควรดำเนินการให้ถึงที่สุดตามกระบวนการ

ขณะที่ สร.รฟท. ได้เสนอว่า กรณีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่บอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครโดยมิชอบต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ รฟท. จ่ายค่าเสียหายให้ บริษัทโฮปเวลล์ฯ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระภายใน 180 วัน ทั้งนี้ สร.รฟท. เห็นว่ายังมีประเด็นและข้อเท็จจริงใหม่ที่ รฟท. และกระทรวงฯ ยังไม่นำเสนอเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ คือความเสียหายและการสูญเสียโอกาสอันเนื่องมาจากโครงการฯ ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่ตามสัญญาโครงการฯ อันเนื่องมาจากข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่ง สร.รฟท. เห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายและการสูญเสียโอกาสเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ สรส. ขอให้รมว.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และในอนาคตควรพิจารณาทบทวนนโยบายในโครงการต่าง ๆ ของราชการ หน่วยงานของรัฐที่ให้เอกชนร่วมลงทุนหรือให้สัมปทานว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงไหน เมื่อเทียบเคียงผลประโยชน์และปัญหาที่จะตามมากับการที่รัฐมาดำเนินโครงการเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ