(เพิ่มเติม) EGCO ระงับแผนแตกพาร์หลังราคาหุ้นปรับลด/เล็งลงทุนในเวียดนาม-เหมืองอินโด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 20, 2008 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวิศิษฐ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)  เปิดเผยว่า บริษัทได้ระงับแผนศึกษาการแตกพาร์ของหุ้น EGCO ออกไป เพราะเห็นว่า ภาวะตลาดหุ้นยังมีความผันผวนในขณะนี้ ประกอบกับ ราคาหุ้น EGCO ก็ได้ปรับลดมาต่ำกว่า 100 บาท ซึ่งการศึกษาการแตกพาร์เพื่อต้องการให้ราคาต่อหุ้นถูกลง เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการเข้ามาลงทุนในหุ้น EGCO 
"เรื่องการศึกษาการแตกพาร์ แต่เดิมว่าจะแตกพาร์เพื่อเพิ่มโอกาสกับนักลงทุนรายย่อย แต่เมื่อศึกษาในความเป็นจริงแล้วพบว่า การแตกพาร์ไม่น่าจูงใจต่อการเข้าลงทุนของนักลงทุนรายย่อย เพราะจำนวนเงินที่เข้าซื้อขายก่อนแตกพาร์และหลังพาร์แตกต่างกันไม่มาก ก็คิดว่าระงับแผนออกไป และช่วงนี้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานก็ไม่นิ่ง โดยเฉพาะ EGCO เคยขึ้นไปถึง 120 บาทแต่ตอนนี้ปรับลงต่ำกว่า 100 บาท" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน คาดว่าบริษัท จะจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของปี 50 ไม่น้อยกว่าการจ่ายเงินปันผลครึ่งแรกปี 50 ที่จ่ายในอัตรา 2.25 บาทต่อหุ้น เนื่องจากในปี 50 บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 8,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 49
ราคาหุ้น EGCO วันนี้ปิดที่ 98.50 บาท ลดลง 0.50 บาท (-0.51%)
*รายได้ปี 51 โต 10% จากปีก่อน
นายวิศิษฐ์ คาดว่า ในปี 51 รายได้จะเติบโต 10% จากปี 50 ที่มีรายได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 50 จะต่ำกว่า สาเหตุที่ตั้งเป้าอัตราการเติบโตรายได้ปี 51 ที่ 10% เนื่องจากปีนี้มีแผนจะปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าระยอง โดยปิดซ่อมบำรุงไตรมาสละ 1 เครื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 1-3 ของปี 51
"ในปีนี้ รายได้หลักของบริษัทก็ยังมาจาก BLCP และ แก่งคอย 2 ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม และระยองที่กำลังการผลิตเริ่มลดลงจากที่มีอายุมากกว่า 13 ปี แต่ก็ยังถือว่าผลิตไฟฟ้าได้ระดับที่น่าพอใจ" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 51 คาดว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7-10% มาจากโรงไฟฟ้าน้ำอู ในลาว กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปการถือหุ้นในสัดส่วน 25-30% ในเร็วๆนี้ , โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ในลาว กำลังการผลิต 1,070 เมกะวัตต์
*พับแผนออกหุ้นกู้ 1 หมื่นลบ.หลังไร้โครงการใหม่
ส่วนแผนออกหุ้นกู้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท บริษัทระงับแผนนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุน ประกอบกับ บริษัทมีกำไรพิเศษจากการกองทุนรวม รวมทั้ง มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กว่า 2.5 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินเพียงพอต่อการลงทุน และ ธ.กรุงเทพ(BBL)ยังได้เสนอให้วงเงินกู้ 4 พันล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัท อายุ 3 ปี
"ตอนนี้เราไม่มีความจำเป็นใช้เงินจำนวนมาก วงเงินที่เคยขอไว้ 1 หมื่นล้านบาท จึงคงไม่ได้เห็นในปีนี้ เพราะเราไม่มีภาระหนี้ระยะสั้น และการลงทุนขนาดใหญ่ก็ยังไม่มี และยังมีแบงก์เสนอเงินกู้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับเดียวกับใกล้เคียงรัฐวิสาหกิจชั้นดีจึงคิดว่าการออกหุ้นกู้ไม่จำเป็นและมีต้นทุนสูงกว่า" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 51 บริษัทตั้งงบลงทุน จำนวน 1,294 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีงบลงทุน 10,311 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ยังไม่มีโครงการลงทุนใหม่ โดยลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 และ 2 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ส่วนปี 52 ตั้งงบลงทุน 1,510 ล้านบาท
*เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม/เหมืองถ่านหินในอินโดฯ
สำหรับปีนี้ บริษัทเน้นลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม ลาว พม่า เป็นต้น โดยขณะนี้ได้ศึกษาแผนการลงทุนในเวียดนาม 2 โครงการ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน มูลค่าลงทุน ประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มูลค่าลงทุนประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิตน้อยกว่า 100 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการประกาศเงื่อนไขประกวดราคาจากทางการ
โดยโครงการในเวียดนาม บริษัทตั้งเป้าจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50%ของแต่ละโครงการ ตามนโยบายของบริษัทที่จะร่วมทุนโครงการต่างๆไม่ต่ำกว่า 25%
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นว่า บริษัทจำเป็นต้องใช้ถ่านหินปริมาณมากในการทำโรงไฟฟ้า ในเกาะกง ประเทศกัมพูชาที่จะเริ่มเดินเครื่อง ในปี 59 ซึ่งหากมีเหมืองถ่านหินเป็นของตัวเองจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้ บริษัทได้เข้าเจรจากับพันธมิตรเดิมที่เคยทำธุรกิจถ่านหินร่วมกันในอินโดนีเซีย
รวมทั้งบริษัทยังได้ศึกษาเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ที่มีหลายรายที่รับใบอนุญาตเข้ามาเจรจากับ EGCO ร่วมลงทุน โดยบริษัทมองว่าจะดำเนินการ หากมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพราะแม้บริษัทจะมีธุรกิจหลักคือผลิตไฟฟ้า แต่ก็มีธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจ ผลิต LNG ร่วมกับ บมจ.ปตท.(PTT) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และยังถือหุ้นในบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) สัดส่วน 18%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ