นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการงิน มมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นของบริษัทแล้ว โดยมีแผนสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 150 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯภายหลัง IPO คาคว่จะเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 4/62 หรือภายในต้นปี 63
สำหรับการระดมทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ขยายธุรกิจ โดยบริษัทฯ มีแผนขยายโรงงานผลิต เพื่อรองรับการผลิตสินค้าเพิ่มอีก 10 ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จากปัจจุบันที่มีการผลิตสินค้าเองจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ และที่เหลือเป็นการจ้างผลิต คาดจะใช้เงินลงทุนดังกล่าวประมาณ 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีสินค้ารวมทั้งสิ้นจำนวน 60 ผลิตภัณฑ์ 80 ชิ้น (SKU) ขณะเดียวกันจะใช้ในการสร้างศูนย์อบรมนักธุรกิจเครือข่าย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ทั้งนี้ SCM ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในลักษณะเครือข่ายขายตรง (Multi-level Marketing หรือ MLM) โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 225 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ แล็บบอราทอรี่ จำกัด (SML) บริษัท ซัคเซส สปิริต จำกัด (SPT) และ SCM Spirit (Myanmar) Co., Ltd. (SPM) ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแบบเครือข่าย กลุ่มธุรกิจให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายและรับจัดงานสัมมนา และกลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า
ด้าน นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ ประธานกรรมการบริหาร SCM กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคทั้งในและต่างประเทศในลักษณะเครือข่ายขายตรง แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจแบบเครือข่าย จำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 65% , กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีสัดส่วนรายได้ 11%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 9%, กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใช้ในครัวเรือน มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 2%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 9% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 4%
กลุ่มธุรกิจให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายและรับจัดงานสัมมนา ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท ซัคเซส สปิริต จำกัด (SPT) และ SCM Spirit (Myanmar) Co.,Ltd. (SPM) เพื่อสนับสนุนธุรกิจเครือข่ายในประเทศ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศที่มีเครือข่ายสมาชิกและฐานลูกค้าเป็นของตนเอง และกลุ่มธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ แล็บบอราทอรี่ จำกัด (SML) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงงานผลิตสินค้าให้กับบริษัทฯ เท่านั้น
จุดแข็งของบริษัทฯ คือ การมีเครือข่ายสมาชิกเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ และมีสาขากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค 23 แห่ง อีกทั้งมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าใน 6 ประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตเร็วมาก ก้าวสู่ 7 ปีสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 พันล้านบาท/ปี
"การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยตอกย้ำแบรนด์ของเราให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สร้างโอกาสในการเพิ่มฐานเครือข่ายสมาชิกและลูกค้า พร้อมผลักดันรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต"นายสิทธิวีร์ กล่าว
นายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCM กล่าวว่า หลังจากนี้บริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินจะเริ่มออกเดินสายไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) กับนักลงทุนทั่วไป โดยหุ้นที่จะเสนอขาย IPO ดังกล่าวจะจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณในสัดส่วน 15% และอีก 85% จะเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป
ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาระหว่างปี 59-60 บริษัทมีรายได้เติบโต 26% ขณะที่ปี 61 รายได้ลดลงเล็กน้อยจากปี 60 หรือมาอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลเมียนมาห้ามทำธุรกิจขายตรงในช่วงเดือนก.ย.61 โดยบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้มาจากเมียนมาราว 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 ก็ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อนจากผลกระทบดังกล่าวที่ต่อเนื่องมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์หันมามุ่งเน้นตลาดกัมพูชา ลาว และมาเลเซีย แทน ส่วนการขายในประเทศ ก็มีการวางแผนในการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งในช่วงเดือนพ.ย.นี้ บริษัทเตรียมออกผลิตภัณฑ์อีกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ จากทั้งปีมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ราว 5-8 ผลิตภัณฑ์/ปี รวมถึงการจัดอบรมผู้นำองค์กรอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากในประเทศคิดเป็น 1,100 ล้านบาท, ผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ คิดเป็น 150 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากงานบริการและอื่นๆ เช่น การจัดสัมมนา เป็นต้น
นอกจากนี้ การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น นอกเหนือจากการได้รับเงินทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการสร้างแบรนด์"ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์"ให้แข็งแกร่ง และเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือธุรกิจนี้สามารถสร้างฝันและโอกาสให้กับทุกคนได้
"บริษัทของเราก้าวสู่ปีที่ 7 ถือเป็นน้องใหม่ของวงการที่มาแรง สะท้อนถึงความเชื่อมั่น ได้รับการยอมรับจากสมาชิก และผู้บริโภค และทั้งนี้บริษัทฯ มีรายได้ติดอยู่ในอันดับ TOP 10 ระดับ 1,000 ล้านบาท จากกว่า 400 บริษัทขายตรงในประเทศไทย เรามีศักยภาพสูงทางด้านการทำธุรกิจในรูปแบบ Multi-level Marketing ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าคุณภาพที่มีกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ และไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศไทยเท่านั้น เรายังไปขยายไปยังตลาดเออีซี แต่ก็ไม่ได้คิดจะหยุดเพียงเท่านี้ โดยบริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะขยายธุรกิจออกไป และทำให้กิจการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนในอนาคต"นายนพกฤษฏิ์ กล่าว