โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) หลังอัตรากำไรขั้นต้นผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2/62 ขณะที่ช่วงครึ่งหลังปีนี้มาร์จิ้นมีโอกาสฟื้นตัวจากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าศรีราชาและจะนะที่เริ่มทยอยรับรู้รายได้ พร้อมกันนี้การรับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู-เหลืองยังคงเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของงาน
ส่วนงานโครงการรัฐสภา STEC ยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่ม หลังการตั้งสำรองก่อนหน้านี้ได้ครอบคลุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายของโครงการแล้ว ขณะที่สิ้นปี 62 คาดว่าความคืบหน้าของการก่อสร้างจะอยู่ในระดับ 60-70% และเก็บงานได้ทั้งหมดในปี 63 ก่อนจะส่งมอบงานได้ในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานประมูลใหม่ยังค่อนข้างซบเซา และบางงานอย่างงานรถไฟฟ้าสีม่วง, สีส้ม, งานรถไฟทางคู่เฟส 2 อาจจะเลื่อนไปเป็นช่วงต้นปี 63 แต่ไม่ได้เป็นผลกระทบต่อ STEC มากนัก เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับงานขนาดใหญ่เข้ามาค่อนข้างมาก โดยมีมูลค่างานในมือ (Backlog) สูงถึง 9.3 หมื่นล้านบาท
ราคาหุ้น STEC ช่วงบ่ายอยู่ที่ 20 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 1.48% ขณะที่ดีชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.03%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทิสโก้ ซื้อ 22.00 คิงส์ฟอร์ด ซื้อ 23.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 24.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อเก็งกำไร 22.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 24.80 ฟินันเซีย ไซรัส ถือ 21.50
นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า อัตรากำไรขั้นต้นของ STEC ในช่วงไตรมาส 2/62 น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานอาคาร และเมื่องานที่มีมาร์จิ้นสูงอย่างงานโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ทั้งโรงไฟฟ้าศรีราชา, ปลวกแดง และจะนะ ทยอยส่งมอบมากขึ้น ก็ทำให้มาร์จิ้นค่อย ๆ ดีขึ้นจะผลักดันให้กำไรในปี 63 กลับมาเติบโตจากที่คาดว่าจะหดตัวในปีนี้ เพราะถูกกระทบจากมาร์จิ้นที่อ่อนลงตามส่วนผสมของงานที่ส่งมอบที่มาจากงานโรงไฟฟ้าลดลงจากปีก่อนประกอบกับในปีที่แล้วมีกำไรพิเศษจากการตีมูลค่าเพิ่มของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน
ทั้งนี้ แม้ว่างานประมูลต่าง ๆ ที่ออกมาจะค่อนข้างซบเซาในปีนี้ โดยงานที่คาดว่าจะออกมา อย่างงานรถไฟฟ้าสีม่วง, สีส้ม, งานรถไฟทางคู่เฟส 2 อาจจะเลื่อนไปเป็นช่วงต้นปี 63 แต่ไม่ได้เป็นผลกระทบต่อ STEC มากนัก เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับงานขนาดใหญ่เข้ามาค่อนข้างมาก โดยมีมูลค่างานในมือสูงถึง 9.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ 1.58 หมื่นล้านบาท และส่งมอบในปี 63 อีกราว 3.7 หมื่นล้านบาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในช่วงไตรมาส 2/62 STEC ได้รับผลกระทบจากงานโรงไฟฟ้าที่มีมาร์จิ้นสูงหมดลง ขณะที่รับรู้รายได้ในโครงการรัฐสภาที่มีมาร์จิ้นต่ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการเข้าประมูลงานภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์ และ สนามบินอู่ตะเภา ทำให้คาดว่ากำไรไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงที่มีกำไรต่ำที่สุดในรอบปี
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ามาร์จิ้นมีโอกาสฟื้นตัวจากงานโรงไฟฟ้าศรีราชาและจะนะที่เริ่มทยอยรับรู้รายได้ พร้อมกันนี้การรับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู-เหลือง ยังคงเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าของงานด้วย
STEC ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาจะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่ม โดยการตั้งสำรองก่อนหน้าได้ครอบคลุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายของโครงการแล้ว ขณะที่คาดว่าสิ้นปี 62 จะสามารถก่อสร้างคืบหน้าได้ 60-70% และในปี 63 จะเก็บงานได้หมดและส่งมอบงานในช่วงปลายปี
แม้ว่า STEC จะมีงานในมือปัจจุบันสูงถึง 9.3 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังคงมุ่งหวังเพิ่มงานใหม่ ด้วยการเข้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่คาดหวัง เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภา ที่เข้าร่วมประมูลกับพันธมิตร มีวงเงินเป็นงานก่อสร้างราว 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกมีวงเงินก่อสร้างราว 2 หมื่นล้านบาท และคาดหวังได้รับงานอื่นจากภาคเอกชนจากกลุ่ม Commercial Building ราว 3-4 พันล้านบาท
ทั้งนี้ STEC มีภาพบวกที่ดีจากการรับงานใหม่ของภาครัฐ ทั้งในรูปแบบของการเป็นพันธมิตรร้บงานร่วมกับกลุ่ม เช่น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ,บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) และ GULF และจากความสัมพันธ์ที่ดีทำให้มีโอกาสสูงในการรับงานก่อสร้างเพิ่มจากพันธมิตร เช่น GULF ทั้งจากการประมูลงานภาครัฐอื่นและงานโรงไฟฟ้า รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจ Commercial Building ในรูปแบบ ของห้างสรรพสินค้าและ Mixed use จะช่วยเพิ่มการรับงานใหม่ในส่วนของภาคเอกชน ในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลประกอบการของ STEC จะเพิ่มขึ้นในปี 63 เนื่องจากการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น ณ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ 9.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อจากการประมูลงาน เช่น สนามบินอู่ตะเภา ที่จะเริ่มประมูลในเร็ว ๆ นี้ และงานอื่น ๆ เช่น รถไฟทางคู่ , รถไฟฟ้าสีต่างๆ แม้ว่างานจะล่าช้าไปบ้าง แต่เชื่อว่างานในมือที่สูงจะหนุนรายได้ที่ 3-3.2 หมื่นล้านบาท, 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท และ 4 หมื่นล้านบาท ในปี 62-64 ตามลำดับ