นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดสินเชื่อในปีนี้จะเติบโตราว 7-8% ต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เนื่องจากช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้การลงทุนของเอกชนและธุรกิจต่าง ๆ สะดุดลงชั่วคราวระหว่างรอผลการเลือกตั้งในประเทศ ประกอบกับเกิดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการเดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของกลุ่มลูกค้าบริษัทสนใจ คือ Supply Chain ของโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณภาคตะวันออก และแม้ว่าผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่บริษัทก็มีลูกค้าในกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน
บริษัทวางเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อคงค้างปีนี้ราว 2.2-2.4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าราว 1 พันราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME ที่มียอดขายตั้งแต่ปีละ 100 ล้านบาทไปจนถึงหลักพันล้านบาท ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ค้าปลีก อุปกรณ์การแพทย์ โทรคมนาคม และธุรกิจที่ได้รับงานโครงการของภาครัฐ
"บริษัทสนใจขยายกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ EEC เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก เช่น ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบอุปกรณ์ เครื่องจักร ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใน Supply Chain มีความจำเป็นที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนภายในโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก"นายอัครวิทย์ กล่าว
นายอัครวิทย์ ยังเปิดเผยว่า บริษัทจะมุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริการที่สะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้าในต่างจังหวัด เพื่อลดขั้นตอนการขอสินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อให้มีความรวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยราว 2-3 วันทำการ โดยบริษัทก็มีเป้าหมายจะลดเหลือภายใน 1 วันให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองให้บริการกับลูกค้าบางส่วนไปบ้างแล้ว และคาดว่าจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มที่ในปีหน้า หลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 61
พร้อมกันนั้นในปีหน้าบริษัทจะวางโรดแมพไปสู่ Digital Lending เพื่อให้บริการผ่านออนไลน์ และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่นิยมใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้บริษัทเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความจำเป็นในการออกไปตั้งสาขาเพื่อให้บริการในต่างจังหวัด โดยอาจจะใช้เพียงตัวแทนที่จะช่วยคัดกรองเอกสารเท่านั้น
บริษัทยังเตรียมศึกษาแนวทางการออกหุ้นกู้เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมเงินทุนในอนาคต จากปัจจุบันที่พึ่งพิงเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งหมด โดยมีธนาคาร 8 แห่งที่เป็นพันธมิตร แต่ก็คงต้องเน้นการพิจารณาต้นทุนทางการเงินเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบันทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาลง