นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการดำเนินงานบูรณาการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ที่ประชุมฯ ได้สรุปแผนการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน (S6) ที่มีลักษณะเป็นทางวิ่งเดี่ยว รถไฟฟ้าต้องจอดสับรางทุกครั้งที่จะเดินรถผ่าน ทำให้ความถี่ในการเดินรถไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องขยายช่องทางเดินรถบนสถานีตากสิน
โดยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ออกแบบปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน พร้อมแบบอาคารพักโดยสาร และทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน (S6) กับท่าเรือสาทร เพื่อเตรียมการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้พื้นที่บริเวณด้านในของสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินกว้าง ข้างละ 1.80 เมตร และขยายบริเวณด้านนอกทดแทน ระยะทาง 230 เมตร พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ใต้สถานี ซึ่ง กทม. คาดว่าจะส่งแบบก่อสร้างส่วนปรับปรุงพื้นที่บริเวณใต้สถานี พร้อมแบบอาคารพักโดยสาร และทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินกับท่าเรือสาทรให้ ทช. พิจารณาได้ภายใน 2 สัปดาห์ และจะเริ่มก่อสร้างหลังจากได้รับการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว (ประมาณปลายปี 62) โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 40 เดือนในการก่อสร้าง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ขอให้ กทม. เร่งรัดการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์แผนการก่อสร้างให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบอันจะเกิดจากการก่อสร้าง
ด้านนายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ กรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีตากสิน เป็นทางวิ่งเดียว รถไฟฟ้าต้องรอหลีก การบริการไม่สะดวกเป็นคอขวด กทม.และบีทีเอสจะขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง ทำให้จะต้องใช้พื้นที่ของสะพานสาทร ด้านในที่ติดกับสถานี กว้างฝั่งละประมาณ 1.80 เมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรบนสะพาน ต้องขยายปีกสะพานสาทรด้านนอกทั้งขาเข้าและขาออก กว้างฝั่งละ 230 เมตร ยาว 300 เมตร ให้เสร็จก่อน ใช้เวลาประมาณ 30 เดือน และเมื่อขยายสะพานแล้วเสร็จ จึงจะขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง